เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2562 ที่บริเวณสวนหลวงพระราม 8 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมเดินวิ่ง "ไทยเฮลท์ เดย์ รัน 2019" (Thaihealth Day Run 2019) ครั้งที่ 8 ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในวาระครบรอบ 18 ปี สสส. โดย ดร.สาธิต ร่วมวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังมี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากรรมการ สสส., ดร.แดเนียล เคอร์เตซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก, , นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส., นายประสาร จิรชัยสกุล ประธานมูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ร่วมกิจรรมพร้อมกับนักวิ่งเข้ากว่า 6,000 คน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส.และสมาพันธ์และสมาพันธ์ชมรมเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพไทย ถือเป็นผู้ริเริ่มการวางมาตรฐานการจัดงานวิ่ง โดยได้จัดทำคู่มือ 2 ฉบับ คือ 1.คู่มือการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน เพื่อเป็นคำแนะนำให้การจัดการแข่งขันวิ่งประเภทถนนมีมาตรฐานสูงในระดับที่สามารถจัดเกรด หรือติดป้ายรับรองของ IAAF กติกาและคำแนะนำที่เป็นสากลพึงปฎิบัติ เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีความปลอดภัยและเกิดความเท่าเทียมกัน และ2.ข้อปฏิบัติที่ดีในการจัดกิจกรรมวิ่งประเภทถนน ที่นำมาใช้กับการจัดงานวิ่งในประเทศไทย โดยเน้นการจัดงานวิ่งเพื่อสุขภาพเป็นไกด์ไลน์สำหรับผู้จัดงานวิ่ง โดยยึดหลัก ‘Safe, Fair, Fun' ซึ่งได้มีการนำไปใช้กับการจัดงานที่สสส.สนับสนุน เพื่อเป็นต้นแบบของงานวิ่งเพื่อสุขภาพ เกิดการจัดงานวิ่งที่มีมาตรฐานขณะเดียวกันก็ส่งเสริมให้นักวิ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการวิ่งที่ปลอดภัยมีการเตรียมพร้อมก่อนวิ่งศึกษาและเคารพกฎกติกามารยาทการวิ่งรวมถึงเข้าใจหลักการกินที่ถูกต้องทั้งก่อนและหลังวิ่ง และให้การวิ่งเพื่อสุขภาพ เป็นชีวิตดีๆ ที่เริ่มที่ตัวเราเอง และวิ่งจนเป็นวิถีชีวิต ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า ภาพรวมของประเทศ สสส.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ผลักดันให้เกิดแผนส่งเสริมกิจกรรมทางกายชาติ พ.ศ.2561-2573 ฉบับที่ 1 มีเป้าหมายให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉงด้วยกิจกรรมทางกาย ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ผ่าน 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1. การส่งเสริมกิจกรรมทางกายประชาชนทุกกลุ่มวัย 2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย และ 3. การพัฒนาระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย หากคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ได้ถึง 11,129 รายต่อปี และลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลได้ถึง 5,977 ล้านบาท ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส. ส่งเสริมให้คนไทยในแต่ละกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ซึ่งผลการสำรวจกิจกรรมทางกายประชากรไทย พ.ศ. 2562 โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปัจจุบันประชากรไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออยู่ร้อยละ 74.6ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ที่เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ ถือว่าการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เข้าถึงคนทุกกลุ่มวัยได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันการวิ่ง เป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการมีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น