จากกรณีการฆ่าหมู่ 15 ศพ ชรบ.,อรบ. และ ผรส. ที่ป้อมยามจุดตรวจ”ทางลุ่ม” บ้านทุ่งสะเดา หมู่ 5 ต.ลำพญา อ.เมือง ยะลา และเป็นเหตุให้ กองทัพภาคที่ 4 ประกาศเคอร์ฟิวส์ ในพื้นที่ 8 อำเภอของ 3 จังหวัด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา นั่นคือ อ.สุไหงโก-ลก ,อ สุคิริน จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และ อ.จะนะ,เทพา,นาทวี และ สะบ้าย้อย จ.สงขลา ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 - 31 ธ.ค. 2563 ซึ่งมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วนั้น ผู้สื่อข่าว ได้สอบถามกับ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ถึงการออกคำสั่ง”เคอร์ฟิวส์” ในครั้งนี้ ถึงเหตุผลที่ประกาศเคอ์ฟิวส์ ในพื้นที่ ซึ่งไม่มีความรุนแรง และเป็นพื้นที่ซึ่ง มีการ ปลดการใช้ พรก.ฉุกเฉิน จาก กองทัพภาคที่ 4 ไปแล้วกว่า 2 ปี เพื่อขอทราบเหตุผล แต่ พล.ท.พรศักดิ์ ไม่ตอบ โดยตอบเพียงว่า ไม่ได้มีการประกาศเคอร์ฟิวส์ ในพื้นที่ ต.ลำพญา อ.เมือง จ.ยะลา ซึ่งเป็นพื้นที่เกิดเหตุ ในขณะที่ พล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สระ ผบช.ภ. ซึ่งผู้สื่อข่าวถามถึง เรื่องการเคอร์ฟิวส์ ในครั้งนี้ว่า เป็นการทำให้การคลี่คลาย สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่นั้น ผบช.ภ.9 ไม่ตอบ โดยกล่าวเพียงว่า ตำรวจ ได้ทำหน้าที่ในการคลี่คลายคดีอย่างเต็มที่แล้ว ในขณะที่ พ่อค้า นักธุรกิจ ในพื้นที่ เศรษฐกิจอย่าง อ.เบตง จ.ยะลา อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ซึ่งเป็นเมืองชายแดน ที่อยู่ได้ด้วยการท่องเที่ยว กล่าวว่า อ.เบตง และ อ.สุไหงโก-ลก เป็นพื้นที่ ซึ่งไม่มีเหตุรุนแรงมาร่วม 2 ปี การประกาศเคอร์ฟิวส์ จะส่งผลกระทบการธุรกิจการค้า การท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม - มกราคม ซึ่งเป็นหน้าเทศกาล คริสต์มาส ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ จะไม่มีนักท่องเที่ยว เข้ามา เศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน อยากให้ กองทัพ และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ทบทวนให้ดี เพราะที่ถูกที่ควร การประกาศเคอร์ฟิวส์ ต้องประกาศ ในพื้นที่ ซึ่งมีการก่อเหตุรุนแรง ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เมืองเศรษฐกิจ และที่สำคัญ เป็นเมืองที่ไม่มีเหตุรุนแรง สำหรับความคืบหน้า ในการติดตามคนร้ายผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็น สมาชิก ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 ในผู้ถูกจับกุม ใน อ.ธารโต จ.ยะลา เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีการให้ข่าวว่า เกี่ยวข้องกับ กลุ่มโจรที่ถล่ม ป้อมยาม ชรบ. ทางลุ่ม นั้น เจ้าหน้าที่ซึ่งทำการสอบสวน เปิดเผยว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับ กลุ่มคนร้ายกลุ่มนี้ แต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ กลุ่มแนวร่วม หรือคนร้ายกลุ่มอื่นๆ ซึ่งเคยก่อเหตุหลายๆเหตุการณ์ ในพื้นที่ จ.ปัตตานี และ สงขลา นำตัวมาสอบสวน เพื่อที่หารายละเอียดว่า มีการเชื่อมโยง กับกลุ่มคนร้ายที่ถล่ม ชรบ. ทางลุ่ม หรือไม่เท่านั้น ซึ่งในเบื้องต้น ยังไม่พบความเชื่อมโยง เช่นเดียวกับคำสั่งของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ให้ ฉก. ปัตตานี,ยะลา และ นราธิวาส สั่งการให้ กำลังพลในทุกพื้นที่ ตรวจสอบสุสาน ว่ามีการฝังศพคนร้ายหรือไม่ รวมทั้งตรวจสอบสถานที่ต้องสงสัยในการเป็นที่รักษาพยาบาลคนเจ็บ เพราะจากหลักฐานต่างๆ ที่ชุดลาดตระเวนเดินเท้าพบ ในเส้นทางหลบหนีของคนร้าย พบว่ามีผู้บาดเจ็บ 2-3 คน และ หนึ่งในนั้น บาดเจ็บสาหัส ต้องมีการตัดไม้ทำเปลหามไปรักษาตัว ซึ่งในการสืบสวน เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ ตรวจค้น หมู่บ้านเป้าหมาย ซึ่งอยู่ในเทือกเขาใน ต.ลำพญา เพราะเชื่อว่า คนเจ็บ ต้องมีการใช้รถยนต์ ในการหลบหนีเพื่อไปยังสถานที่พยาบาล โดยในเบื้องต้นพบว่า มีแนวร่วม ระดับ เปอร์มูดอ ในพื้นที่ ต.ลำพญา ต.ลำใหม่ อ.เมือง ยะลา มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการนำคนเจ็บหลบหนี สำหรับเรื่องการ รักษาพยาบาล ผู้ได้รับบาดเจ็บ ของ ขบวนการ บีอาร์เอ็น นั้น ใน 15 ปี ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ ตำรวจ ทหาร ไม่เคยตรวจพบว่า ผู้บาดเจ็บ จากการปะทะกับ เจ้าหน้าที่ ถูกนำไปรักษาพยาบาลที่ไหน ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ อดีต แนวร่วม ระดับสูง ที่ออกจากขบวนการแล้ว ได้เปิดเผยให้ทราบว่าใน 3 จังหวัด และ 4 อำเภอ ของ จ.สงขลา บีอาร์เอ็น มีแพทย์ หรือหมอ ที่เป็นแนวร่วมของ บีอาร์เอ็น ซึ่งจบแพทย์ จากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นผู้รับผิดชอบในการ รักษาพยาบาลคนเจ็บ โดยแพทย์ของ บีอาร์เอ็น ได้รับเงินเดือนเป็นค่าตอบแทน เท่ากับเงินเดือนที่จะได้รับหากเข้าทำงานในคลินิก หรือ โรงพยาบาล ส่วนคนเจ็บที่อาการสาหัส บีอาร์เอ็น จะมีหน่วยขนส่ง หรือ โลจิสติส เป็นผู้รับผิดชอบในการนำส่ง ข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผ่านมา 15 ปี เจ้าหน้าที่ ยังค้นไม่เจอ สถานที่ ซึ่ง บีอาร์เอ็น ใช้ในการ รักษาพยาบาลคนเจ็บ ซึ่งใน จ.นราธิวาส เคยมีข่าวว่า สถานที่ในการ รักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ ตั้งอยู่ใน อ.สุคิริน แต่ ไม่มีรายละเอียดว่าอยู่ตรงจุดไหนของอำเภอ รวมทั้งกลุ่มผู้รับผิดชอบ คนเจ็บ คนป่วย ของ บีอาร์เอ็น คือ กลุ่ม สตรี ที่มีการจัดตั้งในทุกอำเภอ แต่ที่ผ่านมา งานการข่าว ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ไม่เคยมีรายงานถึงความเคลื่อนไหว ไม่มีรายละเอียดของ กลุ่มสตรี ที่เป็นกำลังสำคัญในพื้นที่แต่อย่างใด ซึ่งหลังเกิดเหตุ ตั้งแต่วันที่ 7-8 กำลังทหารพราน ในทุกจังหวัด ได้ดำเนินการ ตรวจสอบ ตรวจค้น พื้นที่เป้าหมาย ทั้ง สุสาน หรือ “กุโบร์” และ สถานีอนามัย สถานพยาบาลเอกชน รวมทั้งร้านจำหน่ายยา ในพื้นที่อย่างละเอียด แต่ไม่พบเบาะแส ว่า มีการนำ ผู้บาดเจ็บ จากการปะทะ มาทำการรักษาพยาบาล ทุกชุดที่ออกไปตรวจสอบ ต่างคว้าน้ำเหลว และผู้ที่เกี่ยวข้อง ปฏิเสธ ที่จะให้ความร่วมมือ แหล่งข่าว ที่มีความเข้าใจ ในการเป็นองค์กรลับของ บีอาร์เอ็น เปิดเผยว่า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กำลังหลงทาง ในเรื่องของ กลุ่มผู้ก่อเหตุ ซึ่งทุกครั้งจะ ระบุในทันที่หลังการก่อเหตุเพิ่งจบ ทั้งที่ยังไม่มีพยานหลักฐาน รวมทั้งการเอาหลักฐานจากปลอกกระสุนปืนที่เคยก่อเหตุ มาเป็นประเด็นว่า ผู้ก่อเหตุเป็นใคร โดยอ้างว่า ปืนที่ใช่ก่อเหตุ เคยก่อเหตุมาแล้วกี่เหตุ ประเด็นสำคัญคือ ปืนที่ใช้ก่อเหตุ เป็นปืน”กองกลาง”ของ ขบวนการ ที่ไม่ได้อยู่ประจำตัวกับ แนวร่วม คนใดคนหนึ่ง เมื่อมีการสั่งการให้ก่อเหตุ ผู้ที่ทำหน้าที่ก่อเหตุ จะได้รับปืนจาก แนวร่วม ที่นำปืนมาให้ และหลังการก่อเหตุ จะมี แนวร่วม มารับปืนไปเก็บใน”กองกลาง” เพื่อรอใช้ในครั้งต่อไป ดังนั้น ผู้ที่ใช้ปืนที่มีประวัติในการก่อเหตุ จึงไม่ใช่บุคคลเดียวกัน ในเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น การสรุปการสืบสวน สอบสวน เช่นนี้ จึงทำให้มีการออกหมายจับ “ซ้ำซาก” ทำให้เห็นว่า มีแต่ “แนวร่วม” หรือ คนร้าย กลุ่มเก่า ที่มีอยู่ไม่ถึง 20 คน ซึ่งต่างมีหมายจับคนละ 10-20 หมาย ใน 15 ปี ทั้งที่ข้อเท็จจริง การก่อเหตุแต่ละครั้ง อาจจะเป็นคนอื่น และเป็น แนวร่วม หน้าใหม่หรือ”กลุ่มคน”หน้าขาว” ที่ไม่มีประวัติในแฟ้มของ ตำรวจ ทหาร ล่าสุด หน่วยข่าวความมั่นคง ได้รายงานให้ทราบว่า กลุ่มคนร้ายทั้งหมด ยังไม่ได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่หลังการก่อเหตุ ได้แยกย้ายกันไปหลบซ่อน ซึ่งพื้นที่ต้องสงสัยที่มีเบาะแส คือ อ.โคกโพธิ์ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา โดยเฉพาะ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา เป็นแหล่งกลบดานสำคัญ และมีเส้นทางธรรมชาติในการหลบหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้สะดวกที่สุด