ทิพยประกันภัย ย้ำรับทำกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย ให้ครูในโครงการ ชพค. หวังช่วยให้พี่น้องครูที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูงได้รับการแบ่งเบาภาระในการหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข ประกอบกับกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันและทายาทก็ไม่ต้องแบกภาระหนี้ดังกล่าว ซึ่งบริษัทจะรับหน้าที่จ่ายภาระหนี้ที่คงเหลือทั้งหมดแทน ที่ผ่านมาก็จ่ายชำระหนี้แทนไปกว่า 16,409 ล้านบาท ดร.สมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงกรณีที่มีการจัดเสวนาปัญหาหนี้ครูและพาดพิงถึงโครงการ ชพค. ในส่วนของบริษัททิพยประกันภัย ที่เข้ารับทำกรมธรรม์ประกันภัยในโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกกองทุนฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนสมาชิก ครู (ชพค.) ถึงความไม่โปร่งใส นั้น บริษัท ฯ ขอชี้แจงว่าโครงการนี้ได้รับความไว้วางใจจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และธนาคารออมสิน เมื่อปี 2552 ให้เสนอการประกันสินเชื่อให้แก่ ข้าราชการครู ในโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ข้าราชการครู ได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบที่ถูกต้อง และคิดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ในการนำไปชำระคืนหนี้นอกระบบ และเป็นเงื่อนไขที่ดีและได้ประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่าย ทั้งนี้ หลักการเดิมของโครงการพัฒนาชีวิตครู ให้มีการรวมหนี้ในและนอกระบบทั้งหมดของผู้กู้มาไว้ที่ธนาคารออมสิน โดยข้าราชการครู จะรวมกลุ่มย่อย 5-10 คน เพื่อค้ำประกันซึ่งกันและกัน หากเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ผู้ค้ำประกันในกลุ่มจะต้องแบกรับภาระหนี้ที่เหลือแทน ทำให้ข้าราชการครูหาคนค้ำประกัน ได้ยาก เพราะไม่มีผู้ค้ำประกันคนใดอยากรับภาระ จึงมีการเรียกร้องให้มีการทำประกันสินเชื่อตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ต่อมาโครงการ ช.พ.ค. ได้เพิ่มทางเลือกเพื่อช่วยเหลือผู้กู้ที่จำเป็นต้องกู้วงเงินสูงแต่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกันได้ตามเงื่อนไข โดยผู้กู้สามารถเลือกที่จะทำประกันหรือไม่ทำประกันก็ได้ ตามความสมัครใจ บริษัทจึงได้เสนอกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุและและสุขภาพสินเชื่อปลอดภัยแบบความคุ้มครองทุนประกันเต็มวงเงินกู้ แบบทุนประกันคงที่ เพื่อลดความเสี่ยงทุนประกัน โดยบริษัทจะเป็นผู้ชำระคืนเงินกู้ที่เหลือแก่ธนาคารออมสินเต็มจำนวน เมื่อเกิดกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิต ซึ่งหากไม่ทำประกันก็มีทางเลือกคือหาคุณครูมาค้ำประกันแทนได้ ทั้งนี้ โดยทั่วไป สถาบันการเงินส่วนมากก็กำหนดเงื่อนไขการทำประกันให้เป็นทางเลือกของผู้กู้เงิน และจำนวนยอดรวมข้อมูลผู้กู้ ช.พ.ค. ทั้งหมดมีผู้กู้บางส่วนที่เลือกไม่ทำประกัน แต่มีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น เพราะเขาเห็นว่าการทำประกันในโครงการนี้มีประโยชน์ต่อทายาทและผู้ค้ำประกัน ดร.สมพร กล่าวต่อว่า บริษัทฯได้ผ่อนคลายข้อกำหนดให้สมาชิกเยอะมากโดยเงื่อนไขรับประกันให้แก่ข้าราชการครูทุกราย ที่แจ้งความประสงค์ โดยไม่ต้องตรวจสุขภาพ ผู้ที่เข้าร่วมโครงการครั้งแรก อายุต้องไม่เกิน 65 ปี เบี้ยประกันอัตราเดียวสำหรับทุกเพศ ทุกช่วงอายุที่ 620 บาท/ปี/ต่อทุนประกัน 100,000 บาท ซึ่งคำนวณจากจำนวนเงินกู้ โดยได้ให้ส่วนลด และต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15% แถมกรมธรรม์ยังให้ความคุ้มครองภัยจากอุบัติเหตุ และสุขภาพ รวมทั้งการเจ็บป่วย ภาวะโรคร้ายแรง คือ ภาวะโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ภาวะโคมา (Coma) ภาวะระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure) ภาวะสมองตาย และระบบประสาทล้มเหลว (Brain Death and Neurologic Failure) ด้วย หากพิจารณาเปรียบเทียบแล้วถือว่าผู้กู้ได้รับประโยชน์คุ้มมาก ส่วนประเด็นการจัดเก็บเบี้ยประกันล่วงหน้า 9 ปี นั้น ดร.สมพร กล่าวว่า บริษัทได้รับการพิจารณา และอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เรียบร้อยแล้ว โดยผู้เอาประกันภัยได้รับส่วนลดสำหรับการทำประกันระยะยาวตั้งแต่แรก เบี้ยที่บริษัทฯคิดเป็นราคาเบี้ยคงที่ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ในขณะที่หากผู้เอาประกันภัยทำประกันภัยแบบรายปี เบี้ยจะถูกปรับเพิ่มตามอายุที่เพิ่มขึ้นและไม่ได้รับส่วนลดระยะยาว หากผู้กู้ชำระหนี้ครบก่อนกำหนด 9 ปี สามารถขอคืนเบี้ยส่วนที่ชำระไว้เกินได้ หรือหากชำระหนี้ยังไม่หมด สามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้เช่นกัน แต่ผู้กู้ต้องมีอายุไม่เกิน 74 ปี สำหรับการต่ออายุประกันภัยในครั้งนี้เป็นการต่อสัญญาประกันภัย 1 ปี เบี้ยประกันภัยที่เสนอเป็นเบี้ยประกันภัยในอัตราเดิมแต่จะไม่มีส่วนลดเบี้ยระยะยาว การปรับเบี้ยประกันภัยที่เพิ่มสำหรับผู้เอาประกันภัยที่มีอายุเกิน 65 ปี ปรับเพิ่มจากความเสี่ยงด้านอายุและอัตรามรณะที่เพิ่มขึ้นจากการรับประกันภัยเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา กรณีที่มีผู้ร้องเรียนการทำประกันต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ DSI ได้มีการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงและรวบรวมเอกสารพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดที่มีลักษณะของการกระทำความผิด ” ประเด็นที่ตั้งข้อสังเกต คือ ผู้กู้ในโครงการนี้ ไม่ได้รับกรมธรรม์ ” ในประเด็นนี้ ดร.สมพร ชี้แจงว่า การประกันภัยในโครงการนี้ เป็นการประกันภัยแบบกลุ่ม บมจ.ทิพยประกันภัย ได้ออกกรมธรรม์ฉบับเต็มให้แก่ธนาคารออมสิน ในฐานะเจ้าหนี้ จำนวน 1 ฉบับ และสำนักงาน สกสค. ในฐานะผู้ดูแลโครงการสวัสดิการเงินกู้ ชพค. อีก 1 ฉบับ โดยหลังจากที่ผู้กู้ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว บริษัทจะนำส่งใบรับรองการประกันภัย พร้อมเอกสารสรุปสาระสำคัญของ ความคุ้มครองให้ผู้กู้ตามที่อยู่ ที่ได้แจ้งไว้ ดร.สมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน บมจ.ทิพยประกันภัย ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ธนาคารออมสิน และทายาทของผู้เสียชีวิต ครบทุกราย โดยไม่เคยขอสำเนาใบรับรอง หรือกรมธรรม์จากทายาทผู้เสียชีวิต แต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีฐานข้อมูลรายชื่อผู้กู้ ที่ทำประกันไว้ครบทุกรายอยู่แล้ว คิดเป็นเงินค่าสินไหมรวมทั้งสิ้น 16,409 ล้านบาท “บริษัทฯ ขอยืนยันกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ และสุขภาพสินเชื่อปลอดภัย ได้ดำเนินการอย่างถูกต้อง และได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นว่ากรมธรรม์ในโครงการนี้ เป็นประโยชน์แก่ข้าราชการครู สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบได้สะดวกขึ้น รวมทั้งภาระไม่ต้องตกอยู่กับผู้ค้ำประกัน หรือทายาท หากกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตก่อนชำระหนี้คืนทั้งหมด รวมทั้งทายาท ยังได้รับประโยชน์หากมีเงินส่วนเกินจากการชำระหนี้ บริษัทก็จะจ่ายเงินส่วนเกิน คืนให้ทายาทด้วย ”ดร.สมพร กล่าว