นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กชื่อ Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า..
“ทำไมต้องตั้งโรงงานแบตเตอรีลิเทียมใกล้แม่น้ำบางปะกง?” มีนายทุนนิคมอุตสาหกรรมไปกว้านซื้อที่ใกล้แม่น้ำบางปะกง อยู่ตรงหัวโค้งแม่น้ำพอดี มีแผนงานจะสร้างโรงงานแบตเตอรีลิเทียมไอออน(ถ้าจำไม่ผิดจากใต้หวัน) ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่แปลกใจ เพราะที่ตรงนี้สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 0-50 ซม และเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงน้ำท่วมขังถึงทุก 2 ปี (ดูรูป) ทำไมต้องมาตั้งจำเพาะตรงนี้? เมื่อเป็นที่ลุ่มมาก นิคมก็ต้องถมที่ขึ้นสูง ข่าวว่าต้องถมถึง 2-3 เมตร รวมทั้งสร้างกำแพงกั้นน้ำ จึงเป็นการเนรมิตภูเขาทองให้เกิดขึ้นท่ามกลางบ่อปลา ตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม ขวางทางน้ำเค็มที่จะหลากจากแม่น้ำบางปะกงไปลงบ่อปลาในช่วงน้ำทะเลหนุน และขวางทางน้ำจืดที่จะไหลจากพื้นที่ชุ่มน้ำและแก้มลิงธรรมชาติแถวนั้น ไปลงแม่น้ำบางปะกงในช่วงหน้าฝน ดูแล้วไม่เข้าใจ ทำไมต้องเลือกมาตั้งเป็นไข่แดง อยู่ท่ามกลางใข่ขาวซึ่งเป็นพื้นที่เลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ใหญ่แห่งเดียวของประเทศ ที่ผลิตลูกสัตว์น้ำป้อนครัวไทยและครัวโลก โดยอาศัยภูมิประเทศที่เป็นของขวัญจากสวรรค์ให้แก่คนไทย ชาวบ้านกังวลว่า การป้องกันมิให้มลภาวะกระจายจากนิคมใข่แดง ออกไปกระทบใข่ขาวนั้น ย่อมทำได้ยาก ไม่ควรให้อุตสาหกรรมมาตั้งอยู่ท่ามกลางเกษตรกรรมอย่างนี้ โปรโมเตอร์พยายามอธิบายว่า นี่ไม่ใช่โรงงานผลิตแบตเตอรี่แบบเดิม ที่มีความเสี่ยงสูง มีการใช้กรด มีการใช้โลหะหนัก แต่เป็นแบตเตอรี่แบบใหม่ ผมเองยอมรับว่าอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนนั้นมีอนาคตดี ปัจจุบันใช้ในมือถือเป็นหลัก ในอนาคตจะใช้จำนวนมากและมีขนาดใหญ่มาก ในรถยนต์ไฟฟ้า แต่การวางตำแหน่งโรงงานต้องรอบรอบ ระวังมิให้กระทบสิ่งแวดล้อม ข่าวบีบีซี ทำให้ข้อมูลโผล่ออกมา ที่น่ากังวล “ คาดว่าภายในปี 2030 จะมีคนเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ากว่า 125 ล้านคันทั่วโลก แต่ลิเทียมที่ใช้ผลิตแบตเตอรีรถไฟฟ้ามาจากไหน การสกัดลิเทียมส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง รถยนต์ไฟฟ้า "เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม" อย่างที่คุณคิดจริงหรือ ทะเลเกลือในอาร์เจนตินากำลังกลายเป็นเหมือง เพื่อสกัดเอา ลิเทียม คาร์บอเนต มาผลิตแบตเตอรีที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ลิเทียมถูกสกัดจากน้ำเค็มที่อยู่ใต้ทะเลเกลือ กระบวนการนี้ต้องใช้น้ำจืดด้วย ชาวพื้นเมืองบางชุมชนคัดค้านการทำเหมืองประเภทนี้ เวโรนิกา ชาเวซ บอกว่า "เรารู้ว่า หลายบริษัทต้องการมาที่นี่ มาที่ดินแดนของเราเพื่อหาลิเทียม แล้วเราก็รู้ว่า พวกเขาใช้น้ำนับล้านล้านลิตร" "กำลังเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเรา สัตว์ของเรา ลูกหลานในอนาคตของเรา" เธอกล่าว "โครงการทำเหมืองลิเทียม ต้องใช้น้ำในปริมาณที่มากกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่" เธอกล่าว โรงงานซาเลส เด จูจุย ผลิตลิเทียมราว 14,000 ตันในปี 2018 นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอาจต้องใช้น้ำจืดถึง 420 ล้านลิตร เทียบเท่ากับน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานโอลิมปิก 168 สระ” สรุปแล้ว การทำเหมืองลิเทียมเป็นกิจกรรมที่จะใช้น้ำจืดจำนวนมหาศาล ทำให้เกิดการต่อต้านอยู่ในขณะนี้ จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่า สกพอ. ผู้ที่จ้องจะอนุมัติผังเมืองใหม่ ที่เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวไปเป็นสีม่วงนั้น ท่านได้ตรวจสอบชัดเจนหรือยัง 1. โรงงานแบตเตอรีนี้จะใช้น้ำจืดหรือไม่ วันละเท่าไหร่ 2. น้ำที่ใช้ จะสัมผัสผิวโลหะและสารเคมีใด 3. มีกระบวนการบำบัดน้ำอย่างไร 4. น้ำที่ใช้แล้วที่จะระบายกลับลงแม่น้ำ จะมีคุณสมบัติต่างจากเดิมอย่างไร ในเรื่องความสะอาด อุณหภูมิ 5. ขบวนการผลิตของทุกโรงงานในนิคม มีสิ่งที่กระจายทางอากาศหรือไม่ ถ้ามี กระบวนการป้องกันมิให้กระจายไปหล่นลงในบ่อเลี้ยงพันธุ์สัตว์น้ำอย่างไร