กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันไม่ได้ประกาศเคอร์ฟิวร์ แต่จะใช้มาตรการทางกฎหมายต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2562 เวลา 10.00 น. ที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิริธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แถลงข่าว ถึงความคืบหน้าเหตุการณ์ยิงถล่ม 15 ศพ ที่ ต.ลำพะยา โดยเปิดเผยว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อต่างๆว่า กองทัพภาคที่ 4 ได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ทั่วพื้นที่เพื่อตามล่ากลุ่มโจร BRN ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญสังหารหมู่ประชาชน 15 ศพ ในช่วงที่ผ่านมา นั้น ทั้งนี้การนำเสนอข่าวดังกล่าวอาจสร้างความสับสนและความตื่นตระหนกแก่พี่น้องประชาชน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอชี้แจงให้ทราบดังนี้ “ ภายหลังเกิดเหตุ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 /ผอ.รมน.ภาค 4 ได้สั่งการให้บูรณาการกำลังเข้าบังคับใช้กฏหมายขั้นเด็ดขาดกับกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงโดยปัจจุบันหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถระบุกลุ่มและตัวบุคคลที่ร่วมก่อเหตุได้แล้วจำนวนหนึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเข้ากดดันและติดตามจับกุมในพื้นที่ต้องสงสัยในหมู่บ้านให้การสนับสนุน พื้นที่ป่าภูเขาช่วงรอยต่อจ.สงขลาและบ้านเครือญาติ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2562 เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยได้ 1 รายเป็นราษฎรพื้นที่ ต.ปากล่อ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับจุดที่คนร้ายก่อเหตุวางระเบิด โปรยตะปูเรือใบและเปายางรถยนต์เพื่อสกัดกั้นการเข้าช่วยเหลือ พร้อมยึดของกลางได้หลายรายการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการซักถามเพื่อขยายเครือข่ายก่อเหตุที่หน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยืนยันว่า จะใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้อำนาจที่มีอยู่ด้วยความระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพี่น้องประชาชน” โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าว โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 สน. กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุ เป็นกลุ่มเดิมๆ ที่มีอยู่ประมาณ 20 คน ซึ่งเป็นกลุ่มของ นายซอบรี หลำโซะ และ นายรอซาลี หลำโซะ ที่รวบรวมกลกลุ่มแนวร่วมในพื้นที่ ในการวางแผนเข้าก่อเหตุครั้งนี้ ซึ่งมีประมาณ 30 คน ทั้งชุดยิง ชุดโรยตะปูเรือใบ และชุดป้องกันการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ สำหรับบุคลคลที่คอยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือให้ที่พักพิง มีความผิดตามกฏหมายในอัตราเดียวกับฐานความผิดของผู้ก่อเหตุรุนแรง สำหรับมาตรการในการรักษาความปลอดภัย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ปรับแผนให้รัดกุมมากยิ่งขึ้นด้วยการจัดเจ้าหน้าที่ทหารเข้าเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน/ชุมชนให้รัดกุมมากขึ้นทั้งนี้เพราะชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.)เป็นเพียงประชาชนจิตอาสาที่เสียสละและอุทิศตนเข้ามาช่วยกันดูแลความปลอดภัยชุมชนของตนเองไม่ใช่เป็นกองกำลังติดอาวุธฝ่ายพลเรือนดังที่องค์กรแนวร่วมและกลุ่ม PerMas นำมาบิดเบือนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการก่อเหตุของกลุ่มขบวนการBRN ดังที่ปรากฏให้เห็นในช่วงที่ผ่านมา