"เชาว์" ซัด"ไพบูลย์"ยืมมือผู้ตรวจ ส่งศาลรธน.ตีความกฎหมายคำสั่งเรียกฯ หวังทำลายความเข้มแข็งของกมธ.เพื่อปย.ของฝ่ายตัวเอง เตือนอย่าห่ำหั่นทางการเมืองจนทำลายระบบตรวจสอบ งงทำหนังสือถึง "ปธ.สภา" สั่งปธ.กมธ.ทุกชุด ระงับใช้กฎหมายคำสั่งเรียก มั่นใจ "ชวน" ไม่หลงกลเดินตามเกมแน่ วันที่ 6 พ.ย.นายเชาว์ มีขวด อดีตรองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ Facebook เรื่อง "อย่าเอาการต่อสู้กันทางทางการเมือง ไปทำลายความเข้มแข็งของกฎหมายระบบตรวจสอบฯ" มีเนื้อหาว่ากรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ.2554 มาตรา 5 , 8 และ 13 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 129 เข้าใจว่าน่าจะเกิดจากความรำคาญใจต่อพฤติกรรมของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ประธานกรรมาธิการป.ป.ช.ที่ใช้กฎหมายคำสั่งเรียกฯมาขู่นายกรัฐมนตรีและพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ให้เข้าชี้แจงในลักษณะเกินอำนาจหน้าที่ แต่ท่านก็ควรแก้ปัญหาให้ตรงจุด เพราะเรื่องนี้ประเด็นอยู่ที่คนใช้กฎหมายไปในทางที่ผิด ไม่ใช่ความผิดของกฎหมาย อย่างที่ท่านพยายามจะลากโยงไปว่า "มาตรา 5 มาตรา 8 และมาตรา 13 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 129 เพราะแม้ว่าในรัฐธรรมนูญมาตราดังกล่าวจะไม่ได้ระบุถ้อยคำที่ชัดเจนเหมือนในรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 135 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "......คณะกรรมาธิการตามวรรคหนึ่งมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับตามที่กฎหมายบัญญัติ..." แต่ในมาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน ก็ไม่ได้ระบุข้อห้ามเรื่องการออกคำสั่งเรียกไว้ ดังนั้นทั้ง 3 มาตราที่อ้างตามพ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯที่หยิบยกมาจึงไม่มีประเด็นที่ขัดหรือแย้งกับ มาตรา 129 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นอกจากนี้ตามข่าวระบุว่านายไพบูลย์เตรียมยื่นหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ย.62) ให้ทำหนังสือถึงประธานกรรมาธิการฯทุกชุด เพื่อสั่งระงับการออกคำสั่งเรียกตามกฎหมายฉบับดังกล่าว โดยอ้างว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งประธานสภาไม่ได้มีอำนาจที่จะยับยั้งการบังคับใช้กฎหมายที่มีผลบังคับอยู่ในปัจจุบันได้อยู่แล้ว และเชื่อว่าท่านคงไม่เข้าไปอยู่ในเกมของนายไพบูลย์ การกระทำของนายไพบูลย์จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกมองว่ากำลังทำลายกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็งของกรรมาธิการฯที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกได้ให้กลับไปเป็นยักษ์ไม่มีกระบองกลายเป็นทำได้แค่ขอความร่วมมือ ไร้บทลงโทษกับคนที่ไม่ให้ความร่วมมือเหมือนในอดีต นายเชาว์กล่าวว่า"ผมคิดว่าการทำลายความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบโดยคิดแต่ประโยชน์ทางการเมือง “เป็นเรื่องที่เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะรับได้ เรื่องนี้ปัญหาอยู่ที่คนใช้กฎหมาย ท่านก็ไปเล่นงานคนที่ใช้กฎหมายไปในทางที่ผิด ซึ่งตามกฎหมายคำสั่งเรียกที่ออกในยุคนายกอภิสิทธิ์มีเจตนาเพิ่มอำนาจให้กรรมาธิการฯทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังกำหนดบทลงโทษในมาตรา 12 ไว้ว่า หากกรรมาธิการฯปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบสร้างความเสียหายให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด มีโทษจำคุกหนึ่งถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ท่านต้องไปบอกพลเอกประยุทธ์ให้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีเลยครับจะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีต่อไป แต่อย่าใช้วิธีปกป้องทางการเมืองด้วยการทำลายระบบตรวจสอบที่เข้มแข็งของกรรมาธิการฯ" ขณะเดียวกันผมขอเรียกร้องไปยังกรรมาธิการป.ป.ช.ทั้งชุดอีกครั้ง ให้ทบทวนบทบาทหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติในกรอบข้อบังคับการประชุมสภา หมวด 5 ข้อ 90 (22) พิจารณาสอบหาข้อเท็จจริง หรือศึกษาเรื่องทีเกี่ยวกับกระบวนการและมาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ถ้าหากยังทำเกินอำนาจหน้าที่ ปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งลาก กรรมาธิการเข้ารกเข้าพงโดยไม่มีการโต้แย้งก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบทั้งหมด เพราะนอกจากจะผิดกฎหมายคำสั่งเรียกมาตรา 12 แล้ว ยังขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 129 วรรคสองที่ระบุไว้ชัดเจนว่า การสอบหาข้อเท็จจริงของกรรมาธิการฯจะต้องอยู่ในอำนาจและหน้าที่ที่ระบุไว้ในการตั้งกรรมาธิการฯด้วย ขอให้ทุกคนทำหน้าที่รักษากฎหมายเพื่อประโยชน์ประชาชนกันเถอะครับ จะได้ไม่มีใครต้องติดคุกเพราะการเอาคืนกันทางการเมือง นายเชาว์กล่าวทิ้งท้าย