เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 6 พ.ย.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ร้านกาแฟในซอยลาดพร้าว 15 นายประจักรษ์ โพธิผล ตัวแทนลิขสิทธิ์บริษัทการ์ตูนแห่งหนึ่ง ชี้แจงต่อสื่อมวลชนหลังตกเป็นจำเลยสังคม หลังแจ้งความที่ สภ.เมืองนครราชสีมา เพื่อเอาผิดกับเด็กสาววัย 15 ปี ก่อนนัดหมายเพื่อซื้อกระทงลายการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมีโทษปรับ 50,000 บาท แต่ภายหลังได้เจรจากับครอบครัวเด็กและต่อรองเหลือ 5,000 บาท กระทั่งบริษัทเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ตามที่ถูกกล่าวอ้าง นายประจักรษ์ กล่าวว่า ภายหลังบริษัท TAC ออกแถลงการณ์ว่าไม่ได้มอบหมายให้ผู้ใดเข้าจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น เนื่องจากบริษัทดังกล่าวเป็นฝ่ายดูแลการจัดจำหน่าย ส่วนบริษัท เวอริเซ็ค จำกัดที่ตนเป็นพนักงานนั้น เป็นฝ่ายปราบปรามโดยตรงที่ได้รับมอบอำนาจจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดำเนินการด้านลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องการรับเงิน 50,000 บาทนั้น คาดว่าเป็นความเข้าใจผิดทางแง่กฎหมาย ที่ระบุใน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ม.31 ว่าผู้กระทำผิดต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000-400,000 บาท กรณีของเด็กคือการทำซ้ำและดัดแปลงลวดลายตัวการ์ตูน ซึ่งตรมีหลักฐานว่าน้องได้ลงขายมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา จากนั้นเมื่อตำรวจเชิญตัวเด็กมาโรงพักเพื่อเจราจาไกล่เกลี่ยความเสียหายแล้ว ตนในฐานะผู้รับมอบอำนาจมีสิทธิ์ในการตัดสินใจทางคดี และเห็นแก่เด็กจึงถอนแจ้งความ ส่วนเงิน 5,000 บาท ก็ถือเป็นค่าเสียหายที่ต้องส่งให้กับบริษัทตามสิทธิ์ ซึ่งตนก็มีรางวัลนำจับมูลค่าต่ำกว่า 50 เปอร์เซนต์ ยืนยันว่า ดำเนินการทางกฎหมายทั้งกับรายใหญ่หรือรายย่อย อย่างไรก็ตาม ตนไม่ใช่คนที่สั่งจองกระทงกับเด็กเพื่อให้มาถูกจับกุมและไม่มีใครมาเค้นสอบในห้องมืดตามที่เป็นข่าว ซึ่งห้องที่สอบสวนเป็นห้องประชุม และวันนั้นไม่ได้เปิดแอร์จึงออกมาตามบันไดข้างนอกห้อง ยืนยันว่าไม่มีใครบังคับให้เซ็นต์ยอมรับความผิด ส่วนรายละเอียดทางคดีตนไม่ขอเปิดเผย ทั้งนี้ หากทางครอบครัวหรือบุคคลใดจะแจ้งความกลับเนื่องจากมองว่าพวกตนเป็นแก๊งตกทรัพย์ก็ยินดี เพราะตนบริสุทธิ์ใจและมีหลักฐาน รวมถึงหนังสือมอบอำนาจที่ไม่สามารถขายให้กันได้ ด้านทนายเดชา กิตติวิทยานันท์ หรือทนายคลายทุกข์ กล่าวว่า ในคดีนี้หากเป็นตามที่เด็กบอกว่า ตนเองถูกว่าจ้างให้ประดิษฐ์กระทงและนัดหมายให้มาส่งของเพื่อที่จะถูกจับกุม มีภาษาเทคนิคว่า “ล่อให้กระทำความผิด” ต่างกับการล่อซื้อที่หมายความว่า ผู้ที่ถูกล่อได้กระทำความผิดจริงอยู่แล้ว ในส่วนนี้ต้องตรวจสอบจากพนักงานสอบสวนว่ามีข้อเท็จจริงอย่างไร ขณะเดียวกันศาลฏีกามีคำพิพากษาเป็นแนวทางหลายคดีว่า ผู้ที่ถูกล่อให้กระทำผิดนั้นไม่มีความผิด อีกทั้งตำรวจก็ไม่มีอำนาจจับกุมสอบสวน