ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ สนับสนุน“กนง.”ลดดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ชะลอเงินบาทแข็งค่า-กระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น เอื้อท่องเที่ยว-ส่งออกของไทยปรับตัวดีขึ้น ระบุควรเร่งผลักดันเบิกจ่ายงบประมาณ อปท.ค้างในระบบประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่กระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยว่า สนับสนุนคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ลดดอกเบี้ยปีนี้อย่างน้อยร้อยละ 0.25 เพราะเห็นว่า จะเป็นตัวเสริมช่วยให้เศรษฐกิจไทยพร้อมเข้าสู่สัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประชาชนมีอำนาจซื้อที่ดีและธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้จะมีส่วนช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปีมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้น และช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยปีหน้ามีภาพของการขยายตัวเกินกว่าร้อยละ 3 ได้ ภายใต้บรรยากาศเศรษฐกิจโลกที่คลี่คลายลง สำหรับสิ่งสำคัญของการลดดอกเบี้ยยังช่วยลดแรงกดดันเงินบาทให้ไม่แข็งค่ามากเกินไป เพราะขณะนี้ความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยไทยและดอกเบี้ยโลกยังค่อนข้างมาก ขณะที่ดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยของไทยปรับลดลงสอดคล้องกับดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ความต่างดอกเบี้ยของไทยที่สูงกว่าดอกเบี้ยโลกจะลดลงเมื่อเทียบดอกเบี้ยนานาชาติ ช่วยลดแรงจูงใจเงินไหลเข้า จะมีส่วนช่วยให้เงินบาทมีแนวโน้มไม่แข็งค่าเร็วเกินไป ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การท่องเที่ยวและการส่งออกของไทยปรับตัวได้ดีในช่วงไตรมาส 4 นี้ จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยถ้า กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยจะต้องติดตามเงินบาทที่จะแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ และเงินเฟ้อจะดีขึ้นหรือไม่ กำลังซื้อปรับตัวดีขึ้นหรือไม่ หากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากการใช้มาตรการทางการคลังได้ กนง.อาจยืนอัตราดอกเบี้ยไปได้จนถึงกลางปีหน้า หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เห็นว่าดอกเบี้ยที่ไม่ลดในการประชุมเดือนพฤศจิกายนนี้ก็สามารถลดในการประชุมเดือนธันวาคมได้ ยังไม่สายจนเกินไป การลดดอกเบี้ยปีนี้ควรลดร้อยละ 0.25 เป็นอย่างน้อย “เศรษฐกิจไทยไม่เพียงกระตุ้นด้วยดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.เท่านั้น จะต้องใช้นโยบายการคลังอย่างต่อเนื่อง มีการใช้งบประมาณต้นปีหน้า และส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.และการใช้นโยบายการคลังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยดีขึ้นได้เป็นสัญญาณน่ากังวล เพราะภาคเศรษฐกิจไทยควรจะมีสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป เพื่อจะทำให้ประเทศไทยมีความโดดเด่นบนเวทีโลก ภายหลังการประชุมอาเซียนที่ไทยระบุว่าพร้อมที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีและพื้นที่อีอีซีเป็นพื้นที่สำคัญที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา “ขณะนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยต่ำที่สุดในอาเซียนและต่ำกว่ากลุ่มประเทศ CLMV อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพของประเทศที่ควรจะขยายตัวในระดับร้อยละ 4-5 ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวใกล้เคียงร้อยละ 5 และไม่สามารถฟื้นตัวได้ช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทำให้ความโดดเด่นของประเทศไทยชะลอลง สะท้อนให้เห็นว่าไทยไม่สามารถปรับตัวให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ ภายใต้เศรษฐกิจโลกผันผวนได้ในเวลาอันรวดเร็ว “ ส่วนประเทศอื่นๆเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจใกล้เคียงที่ร้อยละ 5 ได้ ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้นโยบายการเงินการคลังช่วยผลักดันเศรษฐกิจประเทศในช่วงต้นปีหน้าขยายตัวในกรอบร้อยละ 3-3.5 ให้ได้ ด้านนโนบายการคลังจะต้องเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามแผน ด้วยการเร่งโครงการลงทุนในพื้นที่อีอีซี และจำเป็นต้องมีความชัดเจนเรื่องผังเมือง พร้อมเร่งเดินหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศ สำหรับปีหน้าถ้ามีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ควรจะเร่งผลักดันการเบิกจ่ายงบประมาณของ อปท.ซึ่งค้างอยู่ในระบบประมาณ 100,000-200,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ เนื่องจากประเทศไทยส่งออกขยายตัวติดลบ ทำให้เงินหายไปจากระบบเศรษฐกิจประมาณ 200,000-300,000 ล้านบาท การที่มีเงิน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐไม่ว่าจะเป็นมาตรการชิม ช้อป ใช้ หรือโครงการประกันรายได้เกษตรกรจะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นช่วงต้นปีหน้าควรจะผลักดันให้มีการใช้งบลงทุน เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบให้ได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท