เริ่มแผลงฤทธิ์ พ่นพิษ สำแดงเดช กันแล้ว สำหรับ ห้วงเวลาที่นักเคลื่อนไหวระบบนิเวศวิทยาระบุว่า เป็น “ฤดูกาลมลภาวะทางอากาศ (Air pollution season)” ที่กำลังคุกคามในเมืองใหญ่ๆ ของประเทศต่างๆ ณ ชั่วโมงนี้ที่เป็นช่วง “ฤดูหนาว” ซึ่งมีสภาพอากาศที่แห้ง ก่อให้เกิดฝุ่นละอองฟุ้งตลบได้ง่ายๆ ชนิดที่ถึงขนาดทำให้เมืองทั้งเมืองกลายเป็น “เมืองในหมอก” เพราะเต็มไปด้วยฝุ่นหมอกควันกันทั้งเมืองเลยทีเดียว โดยเมืองที่กำลังผจญกับชะตากรรมข้างต้น จนเป็นที่วิตกกังวลยิ่งเมืองใด ณ เวลานี้ ก็เห็นจะเป็น “นิวเดลี” นครหลวงของประเทศอินเดีย ทั้งนี้ จากการวัดค่า “ฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคไม่เกิน 2.5 ไมครอน” หรือที่เรียกกันฮิตติดปากว่า “พีเอ็ม 2.5 (PM 2.5) ในกรุงนิวเดลี ปรากฏว่า มี “ดัชนีคุณภาพอากาศ” หรือ “เอคิวไอ (AQI : Air Quality Index)” ที่วัดได้ล่าสุดอยู่ที่ “383” คือ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดอนุภาคพีเอ็ม 2.5 ไมครอน ในกรุงนิวเดลี ระดับค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 383 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงเกินระดับความปลอดภัยถึง 10 เท่า นายสิทธารถ ซิงห์ นักวิจัยด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศชาวอินเดีย และเป็นเจ้าของผลงานเขียนเรื่อง “หมอกควันอันยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย (The Great smog of India)” ก็ยังกล่าวว่า สภาพอากาศในกรุงนิวเดลี มีกลิ่นตลบอบอวลคล้ายกับกลิ่นควันของใบไม้เผาไฟ ซึ่งนอกจากได้กลิ่นแล้ว ประชาชนในกรุงนิวเดลี ก็ยังแสบตา และเจ็บคอ จากหมอกควันที่เต็มไปทั่วบริเวณเมืองหลวงของอินเดียแห่งนี้ ใช่แต่เท่านั้น นายอาร์วินท์ เกจริวัล มุขมนตรีของกรุงนิวเดลี หรือพ่อเมืองของกรุงนิวเดลีเอง ก็ยังออกมายอมรับว่า นครที่เขาบริหารปกครอง ไม่ผิดอะไรกับ “ห้องรมควัน” หรือ “ห้องรมแก๊ส (Gas chamber)” อันเป็น “ห้องอบไอพิษสำหรับประหารชีวิตนักโทษ” กันเลยทีเดียว พร้อม “ประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข” ในกรุงนิวเดลี จากผลพวงของพิษภัยในสภาพอากาศ ก่อนดำเนินการแจกจ่ายหน้ากากอนามัย จำนวน 5 ล้านชิ้นไปตามโรงเรียนต่างๆ นอกจากนี้ ทางการปกครองท้องถิ่นของกรุงนิวเดลี ได้นำ “มาตรการสลับวันขับรถยนต์ตามเลขทะเบียนรถ” ออกมาปัดฝุ่นหวนกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง เพื่อหวังว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยวดยานพาหนะต่างๆ สู่ชั้นบรรยากาศในเมืองหลวง ซึ่งจะมีผลในระหว่างวันที่ 4 – 15 พ.ย.นี้ โดยมาตรการดังกล่าว ก็จะกำหนดรถยนต์ที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วย “เลขคี่” ได้แก่ 1, 3, 5, 7, 9 สามารถวิ่งบนถนนในกรุงนิวเดลีได้ใน “วันที่เลขคี่” ได้แก่ วันที่ 5, 7, 9, 11, 13, 15 พ.ย.นี้ ส่วนรถยนต์ที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วย “เลขคู่” ได้แก่ 0, 2, 4, 6, 8 ก็จะวิ่งบนถนนในกรุงนิวเดลีได้ใน “วันที่เลขคู่” ได้แก่ 4, 6, 8, 10, 12, 14 พ.ย. ซึ่งหากใครฝ่าฝืนก็จะถูกโทษปรับเป็นเงิน 4,000 รูปี หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ เกือบ 1,700 บาท อันเป็นอัตราโทษที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า โดยกฎระเบียบข้างต้นจะยกเว้นกับรถขนส่งสาธารณะ รถฉุกเฉิน รถแท็กซี่ รถสองล้อ และรถที่สตรีขับมาเพียงลำพัง อย่างไรก็ดี ได้มีผู้ออกมาแสดงข้อกังขาว่า มาตรการข้างต้นจะสามารถใช้ได้ผลจริงหรือไม่? เพราะจากการใช้เมื่อครั้งก่อน ก็ไม่ได้มีความชัดเจนว่า สามารถช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศได้จริง นอกจากการใช้รถยนต์ตามท้องถนนในกรุงนิวเดลีที่ตกเป็นเป้าถล่มว่า ทำให้เกิดวิกฤติมลภาวะทางอากาศแล้ว ทางการเมืองหลวงของอินเดีย ยังกล่าวโทษไปยังบรรดาเกษตรกรในแคว้นข้างเคียง ที่เผาตอซัง เช่น ซังข้าว ในพื้นที่ทางการเกษตรของพวกเขา รวมถึงผู้ที่เผาแผ้วถางพื้นที่เตรียมเพาะปลูกรอบใหม่ว่า เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญของวิกฤติมลภาวะทางอากาศของกรุงนิวเดลีด้วย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นข้างต้น ทางการนครหลวงนิวเดลีได้รับเสียงติติงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะจากศาลฎีกาที่มีนายอรุณ กุมาร มิศรา ประธานศาลฎีกา ที่ระบุว่า รัฐบาลของนิวเดลี อย่ามัวแต่กล่าวโทษบุคคลอื่น แต่ควรจะต้องหันมาดำเนินมาตรการสำหรับรับมือกับปัญหาวิกฤติหมอกควันที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น สวนทางกับการดำเนินการของทางการที่ประสบกับความล้มเหลว จนทำให้นครแห่งนี้กลายสภาพไม่ผิดอะไรกับห้องรมแก๊สพิษ โดยเมื่อกล่าวถึงฝุ่นละอองขนาดอนุภาคพีเอ็ม2.5 ก็ต้องบอกว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เราอยู่แล้ว เพราะเป็นฝุ่นละอองที่มีขนาดอนุภาคที่สามารถเข้าไปในปอดของมนุษย์เราได้ อันจะก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บแก่มนุษย์เราเป็นประการต่างๆ ซึ่งนอกจากโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจแล้ว ก็ยังเป็นปัญหาให้ระบบเลือด หัวใจ และสมอง ที่แม้แต่องค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ ก็ยังแสดงความวิตกกังวล ด้วยตัวเลขของผู้เป็นเหยื่อจากปัญหามลภาวะอากาศมีปริมาณสูงถึงราวปีละ 7 ล้านคนที่ถูกวิกฤติข้างต้นคร่าชีวิตไป