วันที่ 5 พ.ย. ที่ห้องพิจารณา 709 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมอเถื่อนคลินิกเสริมความงาม หมายเลขดำ อ.415/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ฟ้องนายทศพล สว่างจิตร อายุ 37 ปี และ น.ส.วรทมล สว่างจิตร หรือวราลัญช์ เจริญศรี อายุ 39 ปี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม คำฟ้องระบุกรณีเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2559 จำเลยทั้งสองซึ่งร่วมกันประกอบวิชาชีพการทำศัลยกรรม การฉีดยา บำบัด วินิจฉัย เพื่อการเสริมสวยโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยจำเลยได้ร่วมกันฉีดยาหรือสสาร 2 เข็ม เข้าไปในร่างกายของ น.ส.ศุภกร กิ้ง เพื่อเสริมเต้านมสวย โดยไม่ตรวจดูว่า น.ส.ศุภกร แพ้ยาชนิดใด ด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลย จนทำให้ น.ส.ศุภกร เกิดอาการกระตุก ชักเกร็ง กัดฟัน และถึงแก่ความตายในที่สุด เหตุเกิดที่ แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กทม. ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 291 และ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม วันนี้ศาลเบิกตัวจำเลยทั้งสองจากเรือนจำมาฟังคำพิพากษา โดยเป็นการนัดฟังคำพิพากษาในส่วนของ น.ส.วรทมล จำเลยที่ 2 เนื่องจากก่อนหน้านี้ นายทศพล จำเลยที่ 1 ได้รับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้พิพากษาจำคุกฐานกระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นเวลา 8 ปี และฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเวลา 2 ปี รวม 10 ปี รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไปพบผู้ตายและสามีผู้ตายที่ห้องเลขที่ 503 แก้วสุภาพอพาร์ทเม้น ซ.รามคำแหง 68 แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ เนื่องจากผู้ตายประสงค์จะเสริมหน้าอก ในราคา 30,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดยาชาเข้าที่ใต้ราวนมซ้ายและขวา ก่อนผู้ตายจะเกิดอาการชักเกร็งในเวลาต่อมา และนำตัวส่งรักษาที่ รพ.รามคำแหง กระทั่งวันที่ 29 มี.ค. 2559 พบว่าผู้ตายเสียชีวิตจากอาการระบบหัวใจล้มเหลว ปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด โดยจำเลยได้ชดใช้เงินให้สามีผู้ตาย และตรวจสอบการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้วไม่พบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมและใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ จำเลยที่ 2 กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต จากการสืบพยานและพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเตรียมอุปกรณ์ อยู่ในที่เกิดเหตุ และทำการโฆษณาเรื่องการศัลยกรรมให้แก่ลูกค้า ถือเป็นการประกอบเวชกรรม โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้รับใบอนุญาต พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคง ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้จำคุก 2 ปี