รองศาสตราจารย์ ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกรรมการ ศูนย์ศึกษากฎหมายฝรั่งเศส คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)มีมติเห็นชอบทบทวนค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์ สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่และโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเห็นชอบให้มีการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมเลขให้เป็นอัตราเดียว(Single Rate)ว่า สะท้อนให้เห็นถึงการกำกับดูแลที่ไม่สะท้อนการแข่งขันที่แท้จริง โดยเฉพาะในตลาดการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้โครงสร้างอัตราค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือนที่เรียกเก็บจากผู้ให้บริการที่มีเลขหมายเดิมจากทีโอที และผู้ให้บริการรายใหม่ที่เสนอในแผนธุรกิจเมื่อครั้งเสนอตัวเข้าร่วมประมูล ขณะที่ผู้ให้บริการที่ขอเลขหมายเพิ่มจาก กสทช. กำหนดจัดเก็บในอัตรา2 บาท/เลขหมาย/เดือน โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่ให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในอัตราเดียวคือ 1.62 บาท/เลขหมาย/เดือน ซึ่งยังผลให้ผู้ประกอบการที่จ่าย 1 บาท/เลขหมาย/เดือน จะจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะผู้ประกอบการที่มีเลขหมายใหม่ที่ต้องจ่าย 2 บาท/เลขหมาย/เดือนจ่ายลดลงนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์คือผู้ให้บริการที่มีเลขหมายใหม่ (ค่าธรรมเนียม 2 บาท) จำนวนมาก ขณะที่ผู้ให้บริการที่มีเลขหมายที่จ่ายค่าธรรมเนียม 1 บาทจำนวนมากเสียประโยชน์อย่างชัดเจน เนื่องจากต้องจ่ายเงินเพิ่มถึงเลขหมายละ 62 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละห้าสิบเลยทีเดียว ทั้งนี้มีความเห็นว่า 1.การจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน เนื่องจากการกำกับดูแลที่ไม่มีความชัดเจนเปลี่ยนไปมา เนื่องจากอัตราค่าธรรมเนียม 1 บาท/เลขหมาย/เดือน เป็นการเรียกเก็บจากเลขหมายที่ผู้ประกอบการได้มาเมื่อครั้งเป็นผู้ได้รับสัมปทานจาก ทีโอที หรือเป็นผู้ให้บริการรายใหม่ที่ได้ขอเลขหมายดังกล่าวมาแต่ต้นจาก กสทช.เมื่อครั้งเสนอตัวเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต ซึ่งได้มีการคิดคำนวณต้นทุนประกอบกิจการในระยะยาวไปหมดแล้ว ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมโดยปราศจากเหตุผลสำคัญจึงเปรียบได้กับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่นักลงทุนใช้ในการตัดสินใจ ทำให้การกำกับดูแลไม่น่าเชื่อถือ เป็นการกำกับดูแลที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอนที่สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้ 2.การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าธรรมเนียมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย และเป็นประโยชน์กับอุตสาหกรรมในภาพรวมนั้นต้องลดต้นทุนการประกอบกิจการให้ทั้งอุตสาหกรรมดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอัตราการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวมิได้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมใดๆทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดได้เปรียบเชิงแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย 3.แม้การปรับปรุงหรือทบทวนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลจะเป็นเรื่องดีก็ตาม แต่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกับการบริการที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งกรณีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบรายเดือน และเติมเงินนั้นไม่อาจใช้หลักเกณฑ์เดียวกันได้ เนื่องจากการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบเติมเงินถือเป็นบริการหนึ่งที่เพิ่มขึ้นแตกต่างจากเดิมที่มีเพียงบริการรายเดือนเท่านั้น ดังนั้นการใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับบริการที่มีลักษณะหรือสาระสำคัญที่แตกต่างกัน ย่อมไม่สอดคล้องกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยแม้การปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใหม่จะเป็นเรื่องที่ควรทำอย่างยิ่ง แต่ควรพิจารณาโดยคำนึงถึง 1.บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปประกอบด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการที่เพิ่มขึ้นตามเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ในภายหลังอย่างบริการแบบเติมเงิน 2.ไม่ควรเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่กระทบกับหลักเกณฑ์หรือประโยชน์ที่ผู้ให้บริการได้รับมาแต่เดิม ซึ่งบางอย่างอาจถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้ประกอบการใช้พิจารณาตั้งแต่เข้าประมูลใบอนุญาต หรือทำสัญญาสัมปทาน มิเช่นนั้นแล้วหากหลักเกณฑ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีเหตุผล ย่อมส่งผลถึงโครงสร้างราคาและแผนธุรกิจที่มีการวางแผนระยะยาวของผู้ให้บริการได้ ทำให้การกำกับดูแลขาดความน่าเชื่อถือ ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไม่เข้มแข็ง เนื่องจากเป็นการกำกับดูแลที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน แน่นอน และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้