เผยเหยื่อค้าทาสบนเรือประมงยังตกค้าง-ถูกทอดทิ้งอยู่เกาะบาตั้มในน่านน้ำอิเหนาอีกอื้อ-อดีตเด็กสถานสงเคราะห์แฉขบวนการค้ามนุษย์สุดโหดเหี้ยม-ฆ่าโยนทะเล รมว.พม.เร่งช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้ประสานงานมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (แอลพีเอ็น) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่ช่วยเหลือลูกเรือประมงที่ถูกหลอกไปทำงานในน่านน้ำอินโดนีเซียว่า ได้พบลูกเรือที่ยังติดอยู่บนเกาะ และยังเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือส่งกลับประเทศ ทั้งคนไทย พม่า และกัมพูชา โดยคนเหล่านี้ถูกหลอกมาตั้งแต่ปี 2545 และถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสบนเรือประมงขนาดใหญ่ ที่สำคัญคือไม่ได้รับค่าจ้าง บางส่วนถูกไล่ลงจากเรือก่อนที่เรือจะหนีกลับประเทศโดยทิ้งพวกเขาไว้ตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะตวล เกาะเบนจีน่า เกาะบาตั้ม ผู้ประสานงานมูลนิธิแอลพีเอ็นกล่าวว่า จากการสอบถามข้อมูลอดีตลูกเรือประมงที่ถูกหลอกลวงระบุว่า มีขบวนการนายหน้าคอยชักชวนที่หมอชิต หัวลำโพง และร้านคาราโอเกะ โดยมีค่าหัว บางคนติดหนี้เพราะดื่มเหล้าร้าคาราโอเกะ2 คืน แต่เป็นหนี้สูงถึง 5 หมื่นบาท จึงต้องลงเรือทำงานเพื่อใช้หนี้ โดยคนพม่าถูกส่งตัวไปทำงานบนเรือในประเทศมาเลเซียก่อนที่จะถูกส่งขายต่อไปทำงานอยู่บนเรือในอินโดนีเซีย และไม่สามารถกลับบ้านได้อีกเลย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองบนเกาะตวลได้ทำการสำรวจและส่งข้อมูลให้สถานทูตของแต่และประเทศ โดยเฉพาะลูกเรือที่เป็นชาวพม่ายังตกค้างอยู่ถึง 44คน ซึ่งการติดตามความช่วยเหลือล่าช้ามาแล้วกว่า 3 ปี เช่นเดียวกับลูกเรือประมงไทย ที่ยังตกค้างอยู่อีกไม่น้อยกว่า 8 คน “หลังจากส่งรายชื่อให้สถานทูตแล้ว กลับยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ บางคนต้องป่วย และไม่แน่ใจว่าประเทศต้นทางครอบครัวจะยังอยู่หรือไม่ พวกเขาไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน แต่มีข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ หากได้กลับประเทศบางคนบอกว่าก็ไม่รู้จะอยู่กับใคร หลายคนบ่นคิดถึงแม่ และต้องการติดต่อกับที่บ้านมาก”น.ส.ปฎิมา กล่าว น.ส.ปฎิมากล่าวว่า หลังจากกลับประเทศไทยแล้วทางแอลพีเอ็นจะลงพื้นที่บ้านของลูกเรือประมงไทยและพม่า ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี สมุทรปราการ เพชบูรณ์ ศรีสะเกษ และสมุทรสาคร เพื่อติดต่อญาติพี่น้อง อย่างไรก็ตามการทำงานลักษณะนี้คนของทางการยังเข้าไม่ถึงข้อมูล เพราะการลงพื้นที่ค้นหาครอบครัวไม่จริงจังในการติดตาม จึงอยากเสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อช่วยสนับสนุนและให้การช่วยเหลือคนไทยกลุ่มนี้ ทั้งในเรื่องของระบบการติดตามและส่งต่อข้อมูลเพื่อช่วยเหลือได้ทันเวลาในกรณีคนป่วย และคนที่เสียชีวิต “หลายคนต้องเสียชีวิตเพราะหลบซ่อนอยู่ในป่าและกินแต่หัวมันดิบ ทำให้ขาดอาหาร บางคนเป็นลมหัวฟาดพื้นตกเรือ บางคนประสบอุบัติเหตุแต่ไม่ได้รับการรักษาจนเสียชีวิต บางคนตรอมใจดื่มเหล้าจนตาย บางคนถูกซ้อมจนเป็นบ้าและตาย เมื่อตายบางคนก็ถูกนำมาฝัง บางคนได้รับการเผา บางรายถูกทิ้งศพลงบ่อน้ำ ดิฉันคิดว่าทางการไทย โดยเฉพาะฝ่ายปกครอง ควรออกเอกสารรับรองให้เขากลับต้นทางเพื่อติดตามครอบครัวและรักษาเยียยา หาอาชีพที่เหมาะสม” น.ส.ปฎิมา กล่าวและว่า กรณีคนที่ป่วยทางจิตและปัญหาสุขภาพ ควรมีกระบวนการทางกฎหมายในเรียกร้องความเป็นธรรมและเงินชดเชยจากนายจ้าง ทั้งในเรื่องค่าเสียชีวิตและการติดเกาะมากกว่า10 ปี รัฐเร่งดำเนินการช่วยเหลือกลับ และเอาผิดต่อนายจ้าง ขณะที่นายวิเชียร ทรัพย์ประเสริฐ ลูกเรือประมงไทยซึ่งเป็นอดีตเด็กในสถานสงเคราะห์ที่ถูกหลอกไปทำงานในน่านน้ำอินโดนีเซีย ได้เล่าให้กับทีมงานของแอลพีเอ็นฟังว่า ตนถูกหลอกทำงานครั้งแรกให้เป็นลูกเรือประมงที่จังหวัดสงขลา แต่ไม่ได้รับค่าจ้างจึงไม่มีเงินเดินทางกลับบ้าน จึงต้องกลับไปลงเรือที่จังหวัดสงขลาเหมือนเดิมตั้งแต่พ.ศ.2551 โดยเรือประมงได้พาไปทำงานแถวเกาะบาตั้ม (Batum) ของอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ช่องแคบสิงคโปร์ “ตอนทำงานอยู่บนเรือผมเห็นเพื่อนที่เป็นชาวขอนแก่นถูกไต๋เรือฆ่า และยังเห็นเพื่อนชาวอุดรธานีที่อยู่ในเรือลำเดียวกันถูกหัวหน้าลูกเรือฆ่าตายตามคำสั่งของไต๋เรือ ผมเองก็ถูกทำร้ายเพราะป่วยและไม่สามารถทำงานได้จึงถูกเหล็กตีที่หลัง ผมอยู่ที่เกาะบาตั้มถึง 4 ปีจนกระทั่งมีชาวอินโดนีเซียช่วยเหลือและส่งผมมาอยู่ที่กรุงจากาตาร์ในพ.ศ.2556” นายวิเชียร กล่าวกับเจ้าหน้าที่แอลพีเอ็น นายวิเชียรกล่าวด้วยว่า ที่เกาะบาตั้มยังมีคนที่ตกเรือและไม่ได้กลับประเทศอีกจำนวนไม่น้อยกว่า 50 คน ทั้งคนไทย พม่าและกัมพูชา เนื่องจากบริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่เรือของคนไทยมาทำการประมงในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทางแอลพีเอ็นได้ประสานไปยังสถานสงเคราะห์นายจังหวัดขอนแก่นที่นายวิเชียรเคยอาศัยอยู่ ซึ่งทางผู้ปกครองสถานสงเคราะห์กำลังประสานไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อให้ออกหนังสือรับรองความเป็นคนไทยของนายวิเชียร โดยขณะนี้นายวิเชียรมีอาการป่วยและนอนอยู่ในเพิกพังชานกรุงจากาตาร์ ซึ่งขณะนี้แอลพีเอ็นได้ประสานกับสถานทูตไทยประจำกรุงจากาตาร์มอบให้ก้อนหนึ่งระหว่างรอส่งตัวกลับ เนื่องจากไม่มีที่พักสำหรับผู้ที่ประสบปัญหารอการส่งกลับ ด้านนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่าได้รับรายงานกรณีที่เด็กในสถานสงเคราะห์ถูกหลอกลวงไปทำงานเป็นลูกเรือประมงแล้ว ซึ่งขณะนี้กระทรวงต่างประเทศ กำลังประสานกับกระทรวงมหาดไทยและพม.ในการให้ความช่วยเหลือซึ่งตอนนี้ยังมีข้อมูลบางประการที่ได้รับจากนายวิเชียรและข้อมูลของกรมการปกครองที่ไม่ตรงกัน แต่เมื่อเปิดทำการในวันที่ 4 พฤศจิกายน จะได้ติดตาเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง