เพราะใกล้การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก ประจำปี เข้าไปทุกขณะ จึงมีบทรายงานชี้ให้เห็นถึงพิษภัยของภาวะโลกร้อน ที่จะส่งผลกระทบในด้านต่างๆ ออกมาเป็นระยะๆ ล่าสุด ก็เป็นบทรายงานว่าด้วยผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่มีต่อการล้มป่วยของประชากรโลก เพราะการขาดสารอาหาร หรือภาวะทุพโภชนาการ ทั้งนี้ บทรายงานข้างต้นที่ออกเผยแพร่ไป ก็เพื่อชี้ให้ตระหนัก และเห็นพิษภัยของภาวะโลกร้อนว่าร้ายกาจขนาดไหน ตลอดจนเพื่อให้ “ที่ประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน แห่งสหประชาชาติ” หรือที่เรียกกันย่อๆว่า “ค็อป25 (COP 25)” ซึ่งปีนี้จะมีขึ้น ณ กรุงซานติอาโก ประเทศชิลี ในช่วงต้นเดือน ธ.ค. ที่จะถึงนี้ ได้พิจารณาเพื่อหามาตรการร่วมกันสำหรับรับมือกับการผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบทรายงานดังกล่าว ก็เป็นผลการวิจัยของคณะนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยโมนาช ในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้ศึกษาผลกระทบของภาวะโลกร้อน เชื่อมโยงกับดัชนีความหิวโลก หรือจีเอชไอ (GHI : Global Hunger Index) มาประกอบการวิจัย โดยนอกจากศึกษากับประชากรโลกแล้ว ก็ยังมุ่งเน้นไปที่ “บราซิล” ถิ่นแซมบา เป็นกลุ่มตัวอย่างที่สำคัญของการวิจัยครั้งนี้ด้วย ในการวิจัย ทางคณะฯ ก็ได้สุ่มเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของผู้ป่วยที่มาเข้ารับการรักษาพยาบาลตามโรงพยาบาลต่างๆ ของบราซิล ในระหว่างปี ค.ศ. 2000 – 2015 (พ.ศ. 2543 – 2558) เทียบเคียงกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปในแต่ละปี ผลการศึกษาวิจัยระบุว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น หรืออากาศร้อนขึ้นทุก 1 องศาเซลเซียส จะส่งผลทำให้มีผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเพราะขาดสารอาหาร เพิ่มจำนวนขึ้นคิดเป็นร้อยละ 2.5 โดยคณะผู้วิจัย เผยว่า ภาวะโลกร้อนมีความสัมพันธ์ต่อการขาดสารอาหารของประชากรโลกอย่างแน่นอน โดยทำให้ประชากรโลกล้มป่วยจากการขาดสารอาหารเพิ่มขึ้น เพราะปริมาณอาหารที่ป้อนให้กับประชากรโลก มีจำนวนลดลง จนทำให้ประชากรโลก ต้องล้มป่วย และมีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ ทั้งนี้ ทางคณะผู้วิจัย ยังประเมินด้วยว่า หากสถานการณ์เป็นเฉกเช่นข้างต้นต่อไปเรื่อยๆ จนถึงปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) หรืออีกกว่า 30 ปีข้างหน้า ปริมาณอาหารที่ป้อนให้กับประชากรโลกก็จะลดลงไปอีกคิดเป็นอัตราเฉลี่ยถึงร้อยละ 3.2 จาก ณ เวลานี้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกต้องล้มป่วยเพราะขาดสารอาหาร หรือไม่ก็มีน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์จำนวนถึง 175 ล้านคน โดยสารอาหารที่ขาดบกพร่องไป ที่นับว่า สำคัญก็ได้แก่ สังกะสี อันเป็นแร่ธาตุที่สำคัญของร่างกายประการหนึ่ง ที่ช่วยควบคุมระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกาย ในระดับเซลล์ ทำให้อวัยะต่างๆ ของร่างกาย สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ล้มป่วยได้ง่ายๆ ใช่แต่เท่านั้น ในปี ค.ศ. 2050 ดังกล่าว ก็ยังจะมีประชากรโลกขาดสารอาหารประเภทโปรตีน ซึ่งเป็นหนึ่งในสารอาหารสำคัญในการเจริญเติบโตของมนุษย์ จำนวนถึง 122 ล้านคน อันเป็นผลพวงจากการผลิตอาหารของโลกเรา ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่พ่นพิษ ผลวิจัยของมหาวิทยาลัยโมนาช ยังเผยอีกว่า ช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 5 – 19 ปี สำหรับกลุ่มตัวอย่างในวัยเด็กและเจริญพันธุ์ ส่วนกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุ ก็จะเป็นในช่วงอายุที่มากกว่า 80 ปี ขึ้นไป พลันที่รายงานฉบับนี้ เผยแพร่ออกไป ก็สร้างความเป็นห่วงให้แก่บรรดานักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงในการส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารโลกของประชากรโลกเรา พร้อมทั้งแสดงความกังวลต่อสถานการณ์ของชิลี ในฐานะประเทศเจ้าภาพจัดการประชุมซัมมิตที่จะมีขึ้นในเดือน ธ.ค.นี้ ว่าจะสามารถเคลียร์ปัญหาการเมืองภายในประเทศของพวกเขาที่มีม็อบประท้วงตามท้องถนนให้เสร็จสิ้นก่อนการประชุมสุดยอดจะเริ่มขึ้นได้หรือไม่?