ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กำหนดแผนยกระดับประเทศไทย​เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านงานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคอาเซียน พร้อมดึงเทคโนโลยีเข้ามาแก้โจทย์​การผลิตและขยายตลาดงานศิลปหัตถกรรมไทยเพื่อสร้างยอดขายให้ชุมชน ที่รักษาภูมิปัญญา​ไทยมีรายได้มั่นคงและอยู่​ได้อย่างยั่งยืน นายวศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวในงานครบรอบวันสถาปนาของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศว่า SACICT ถือเป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญด้านการอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอดคุณค่างานศิลปหัตถกรรม ที่สืบทอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ที่สำคัญอย่างยิ่งคือสามารถสร้างงานสร้างโอกาส และรายได้ แก่ผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกิดความอยู่ดีกินดีอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ภารกิจของ SACICT จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และสอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศ โดยมุ่งเน้นการสร้างความมั่นคง เข้มแข็ง ยั่งยืนแก่เศรษฐกิจฐานราก ขณะเดียวกันทุกภาคส่วนจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป วงการศิลปหัตถกรรมไทยจำต้องหลอมรวม ภูมิปัญญา องค์ความรู้งานหัตถศิลป์ไทย ผสานเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ยกระดับความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสทางการตลาด เชื่อมโยงเครือข่าย งานหัตถศิลป์ให้กว้างไกล อันจะช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสังคมที่แข็งแกร่ง จากภารกิจที่ต้องการสืบสาน พัฒนาและต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย เริ่มจากการพัฒนาบุคลากร ผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทย ที่ปัจจุบัน SACICT ได้คัดเลือกและเชิดชูกลุ่มผู้ทำงานศิลปหัตถกรรมไทยจากทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย และทายาท ช่างศิลปหัตถกรรมไทย ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 381 คน SACICT มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรทั้งสามกลุ่ม เน้นการปรับกระบวนการคิดเพื่อสร้างมุมมองใหม่ให้กับช่างผู้ผลิตให้สามารถผลิตงานหัตถศิลป์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างร่วมสมัย สามารถต่อยอดเกิดเป็นอาชีพและขายได้จริงในตลาด การติดอาวุธทางปัญญาด้วยองค์ความรู้ทางเทคนิค พัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ที่ผสานอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญาร่วมกับแนวคิด Today Life’s Crafts ช่วยให้เกิดการแปรรูปสินค้าให้ตรงกับยุคสมัยและความนิยมของผู้บริโภค รวมทั้งการเชื่อมประสานไปยังผู้ซื้อ การสร้างเครือข่ายทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดออนไลน์ รวมถึงการสร้างพันธมิตรด้านการค้าใหม่ ๆ ด้านการพัฒนาพื้นที่ชุมชมหัตถกรรม ปัจจุบันมีทั้งสิ้น 38 ชุมชนทั่วประเทศ ที่มีครูและทายาทเป็นผู้ถ่ายทอด แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง พันธมิตรในท้องถิ่น เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับกลุ่มสมาชิกที่กระจายอยู่ในชุมชน เพื่อให้ชุมชนเกิดความเชื่อมั่นว่างานศิลปหัตถกรรมทำเป็นอาชีพได้รายได้ที่มั่นคงต่อเนื่อง สร้างความเข้มแข็งและยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่คนในชุมชน โดยยังส่งเสริมให้มีการต่อยอดชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมผ่านวิถีชุมชน สนับสนุนให้เกิดกิจกรรมท่องเที่ยว นอกจากนี้ การผลักดันไทยให้เป็น Arts & Crafts Hub of ASEAN ภายใต้การดำเนินงานของ SACICT ที่เป็นศูนย์รวมความรู้งานศิลปหัตถกรรมที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน ด้วยการ บูรณาการข้อมูลงานหัตถศิลป์อย่างรอบด้านในทุกมิติ ผ่านการจัดเก็บข้อมูลบนระบบการสืบค้นข้อมูลที่สามารถใช้งานง่ายทุกที่ทุกเวลา หรือที่เรียกว่า SACICT Archive ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่มีการรวบรวบองค์ความรู้งานหัตถศิลป์บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทั้งจากตัวบุคคล ตัวผลิตภัณฑ์ และกระบวนการขั้นตอนการทำ เชื่อมโยงข้อมูลกับแหล่งเรียนรู้และชุมชนหัตถกรรมทั่วประเทศ ซึ่งภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชน นักเรียนนิสิตนักศึกษา ภาคการผลิต ผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ SME และผู้ที่มองหาโอกาสทางธุรกิจ สามารถเชื่อมโยงและนำข้อมูลมาใช้งานต่อยอดให้เกิดการพัฒนาตนเอง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิผลในการผลิต รวมทั้งช่วยในการสืบสานรักษางานศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป นางสาวแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า SACICT มีภารกิจสำคัญในการอนุรักษ์ ส่งเสริมให้เกิดการสืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมไทยมาตลอดระยะเวลา 16 ปี ของการดำเนินงาน SACICT ทำหน้าที่เป็นผู้ชี้ทางและสร้างโอกาสให้แก่ผู้ทำงานศิลปหัตถกรรม เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยให้เป็นที่ยอมรับและนิยมใช้อย่างกว้างขวางในรอบปีที่ผ่านมา SACICT ได้ดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ Today Life’s Crafts เพื่อสร้างการรับรู้ในคุณค่าความงามของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยว่าสามารถประยุกต์ ใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันได้เสมอ โดยให้ความสำคัญต่อการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ การเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ทำงานหัตถศิลป์ การพัฒนางานศิลปหัตถกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ให้มีความร่วมสมัย เหมาะสมกับการใช้งาน และสร้างความนิยมและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงงานศิลปหัตถกรรม เพื่อเพิ่มโอกาส ทางการตลาด SACICT ยังให้ความสำคัญต่อการรวบรวมและจัดทำองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมไทยที่ใกล้สูญหาย ซึ่งเป็นการจัดทำองค์ความรู้ประเภทงานศิลปหัตถกรรมที่สะท้อนคุณค่า แสดงถึงซึ่งภูมิปัญญาทั้งศาสตร์ และศิลป์เชิงช่างนับจากในอดีตกาลที่สูญหายหรือที่ใกล้จะสูญหาย โดยบันทึกข้อมูลไว้ในรูปแบบเอกสารจัดเก็บ (Archive) เป็นองค์ความรู้เชิงประจักษ์ เพื่อเก็บรักษาภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมเหล่านี้ไว้เป็นสมบัติอันมีค่าของชาติ ไม่ให้สูญหายสิ้นไปตามกาลเวลา ตลอดจนเพื่อการนำมาถ่ายทอด และเผยแพร่ ให้เกิดการรับรู้ ในคุณค่า ผ่านการดำเนินกิจกรรมร่วมกับผู้มีทักษะฝีมือเชิงช่าง อันจะเป็นแนวทางนำไปสู่การสืบสาน และพัฒนาต่อยอดต่อไป ซึ่งประเภทงานศิลปหัตถกรรมใกล้สูญหาย ที่อยู่ในแผนดำเนินงานอนุรักษ์และเผยแพร่ให้เกิดการรับรู้ในปี 2563 มีกว่า 40 ประเภทงาน อาทิ งานคร่ำโบราณ งานเครื่องทองลงหิน ตอกหนังใหญ่ จักสานทองเหลือง เครื่องประดับมุก ผ้ายกพุมเรียง ผ้าจวนตานี ผ้าปะลางิง งานเครื่องลงยาสี แทงหยวก ปูนปั้นสด ผ้าสมปักปูม เป็นต้น ในปี 2563 SACICT ยังคงเดินหน้ายกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้าน งานศิลปหัตถกรรมในภูมิภาคอาเซียน และในโอกาสที่ในปีนี้ประเทศไทยทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียน มีบทบาทสำคัญในการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) ร่วมหารือเพื่อกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอาเซียนมุ่งไปสู่ความยั่งยืนในทุกมิติ ความเชื่อมโยง และการมองไปสู่อนาคตร่วมกัน ดังนั้น SACICT จึงได้ยกระดับ องค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรม ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ การจัดประชุม Arts & Crafts Forum ในระดับอาเซียน การจัดงาน Crafts Bangkok 2020 ซึ่งเป็นงานเดียว ในประเทศไทยที่รวบรวมทุกอย่างของ งานคราฟต์ในระดับอาเซียนและนานาชาติ นางสาวแสงระวี กล่าวเพิ่มเติมว่า SACICT Craft Center ตั้งอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นสถานที่ที่สามารถรองรับกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การให้บริการห้องประชุมขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับการประชุมระดับนานาชาติ หอนิทรรศการที่มีชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซที่หาดูได้ยาก ห้องสมุด และ Co-Working Space รวมถึง SACICT Corporate Gift Salon หรือบริการจัดหาของขวัญที่เป็นงานหัตถศิลป์สำหรับมอบเป็นของที่ระลึกแก่บุคคลสำคัญและหน่วยงานองค์กรระดับโลกได้ ด้วยความมุ่งมั่นในพันธกิจ และวิสัยทัศน์ขององค์กรในการ “เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์ สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากล เพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดี อย่างยั่งยืน” SACICT พร้อมที่จะชี้ทางและสร้างโอกาสและยกระดับงานศิลปหัตถกรรมของไทยสู่ความเป็นสากล อาทิการเป็นผู้นำด้าน CRAFT TREND กระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตศิลป์ร่วมกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ SACICT Concept โดยการจับมือกันระหว่างผู้ผลิตงานหัตถศิลป์กับคนรุ่นใหม่ ที่เป็นทั้งนักออกแบบ นักศึกษา และกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียง เพื่อรวมกันจัดทำชิ้นงานหัตถศิลป์ต้นแบบขึ้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับของคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมของไทยมากขึ้น “ไม่ว่าอนาคตจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร SACICT เชื่อมั่นในบุคคลากรในแวดวงงานหัตถศิลป์ หน่วยงานพันธมิตรของ SACICT จะร่วมมือกันอนุรักษ์ภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมของไทย และช่วยกันส่งเสริม งานหัตถศิลป์ไทยให้เกิดการยอมรับและใช้งานในระดับสากลต่อไป”