อีกหนึ่งความท้าทายที่สำคัญในระดับโลกสำหรับการเข้ามาของระบบ 5G ที่ในปีหน้านี้หลายๆ ประเทศกำลังจะได้ทดลอง และสัมผัสกันอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งระบบดังกล่าวว่ากันว่าจะมีความรวดเร็วกว่าระบบเดิมอย่าง 4G มากขึ้นถึง 10 เท่า และเมื่อเข้ามาแทนที่ของเก่าแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าโลกโซเชียลและการเชื่อมต่อแบบไร้พรหมแดนของทุกคนจะมีความรวดเร็ว ฉับไว ทันใจยิ่งกว่ากระพริบตา และยังจะนำมาซึ่งประสบการณ์ใหม่ๆ ในแบบที่ทุกคนไม่เคยได้เจอมาก่อนอย่างแน่นอน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้จัดกิจกรรม Innovation Thailand Expo 2019 หรือ ITE 2019 ภายใต้แนวคิด “Social Innovation in the City” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์แก้ไขปัญหาของชุมชนและสังคมที่เกิดจากการขยายตัวของเมือง พร้อมด้วยเวทีถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยหนึ่งในหัวข้อการเสวนาที่น่าสนใจคือ “Fake News & Future Media การรับมือกับเฟคนิวส์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสื่อในอนาคต” ซึ่งเป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มเทคโนโลยีในยุคที่ Internet of things or Smart devices เชื่อมต่อแทบทุกอย่างบนโลกไว้ด้วยกัน ส่งผลกระทบโดยตรงกับการพัฒานวัตกรรมด้านสื่อ พร้อมทั้งแนวทางการรับมือกับ Fake News ที่มาพร้อมกับความเร็วในยุคอินเทอร์เน็ตแบบ 5G ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดคือเทคโนโลยีต่างๆ หรือการสั่งการผ่านระบบปฏิบัติการจะมีความหน่วงเวลาหรือมีความใกล้เคียงกับความจริงมากที่สุด เช่น การสั่งงานอุปกรณ์จากระยะไกลที่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ทันที หรือแม้แต่การรับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ของประชาชนก็จะมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ส่งผลให้โลกออนไลน์เชื่อมต่อกันอย่างรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และแน่นอนว่าประสิทธิภาพของเครือข่ายไร้สายที่หลากหลายองค์กรกำลังพัฒนาให้รวดเร็วนั้น จะเป็นการสร้างทั้งโอกาสและผลกระทบแก่สื่อต่างๆ ซึ่งหากมองในแง่การสร้างโอกาสจะส่งผลให้การทำงานของสื่อในอนาคตได้รับโอกาสคือ 1.สะดวก รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ ซึ่งจะช่วยให้การรายงานสถานการณ์มีความฉับไว และเกิดการแข่งขันในด้านดังกล่าวมากยิ่งขึ้น 2.เข้าถึงทุกคน ทุกเวลา และทุกอุปกรณ์ สามารถรองรับจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 10 เท่า จากที่สามารถรับคนได้ราว 1 แสนคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. กลายเป็น 1 ล้านคนต่อพื้นที่ 1 ตร.กม. 3.ช่วยเพิ่มคุณภาพของการรับสาร ซึ่งไม่ว่าจะเป็นภาพ วิดีโอ เสียง จะมีความคมชัดและเสมือนจริงมากอีกหลายเท่าตัว 4.ตอบสนองต่อผู้ใช้งานมากขึ้นในทุกกิจกรรม โดยทุกคนนั้นจะสามารถทำงาน และเข้าถึงข้อมูลทุกอย่างที่อยู่บน Cloud ไม่ว่าจะรูปแบบภาพ หรือวิดีโอ ได้แบบทันทีที่ต้องการ รวมถึงความเร็วในการดาวน์โหลดและอัพโหลดที่สูงกว่าเทคโนโลยี 4G 5.เป็นแหล่งสร้างรายได้ เพราะมีความประหยัด และมีประสิทธิภาพสูง โดยจะได้เห็นผู้คนผันตัวมาทำคอนเทนท์ที่ให้สาระและความบันเทิงมากยิ่งขึ้น 6.รองรับการเชื่อมต่อที่มากกว่าอุปกรณ์สื่อสาร เช่น การนำไปใช้ในระบบรถยนต์ การขนส่ง การสำรวจภาคสนาม 7.เก็บข้อมูลทุกอย่างได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งสื่อต่างๆจะสามารถเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้รับสารได้ทุกอุปกรณ์ และนำมาพัฒนาคอนเทนท์ได้อย่างสร้างสรรค์และตรงกับกลุ่มของผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม ด้าน พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI กล่าวว่า ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนอยู่ในระบบออนไลน์เป็นจำนวนมากทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย รวดเร็ว มีข้อมูลข่าวสารให้เลือกอ่านได้อย่างไม่จำกัด ซึ่งผลที่ตามมาคือความรวดเร็วนั้นจะส่งผลให้การกลั่นกรองข้อมูลลดน้อยลงไป เพราะสื่อเองก็ต้องการนำเสนอข่าวที่รวดเร็วสนองความต้องการของผู้รับ ประชาชนทั่วไปก็ต้องการเข้าถึงข้อมูลแบบเร่งด่วน จึงกลายเป็นที่มาของการสร้างข่าวปลอมหรือที่คุ้นหูกันดีว่า Fake News (เฟคนิวส์) นอกจากนี้ยังนำมาซึ่งผลกระทบอื่นๆอีก ได้แก่ 1.การรั่วไหลของข้อมูล โดยเฉพาะการถูกแฮ็กความลับส่วนบุคลหรือขององค์กร 2.เกิดพฤติกรรมการกลั่นแกล้ง (Cyber Bullying) โดยเฉพาะในรูปแบบของข้อความและรูปภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดความเกลียดชังและนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม 3.เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคข่าวสาร ทั้งขาดการวิเคราะห์ข้อมูล เกิดความความเชื่อในรูปแบบที่ผิด การโพสต์ข้อมูลโดยขาดการกลั่นกรอง เกิดความใจร้อนหรือหัวรุนแรงจากการยุยงปลุกปั่นด้วยข้อความ 4.การสร้างโปรแกรมหรือช่องทางเพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการทำธุรกรรมประเภทต่างๆ และ 5.ลดทอนความสัมพันธ์ เนื่องจากความกว้างไกลของโซเชียลมีเดียที่เชื่อมต่อผู้คนได้ทั่วโลก และความเห็นต่างจากการนำเสนอข้อมูลต่างๆของสื่อ และอาจทำให้ผู้คนพูดคุยกันในชีวิตน้อยลง