“ไจก้า” สนับสนุน สนข. เร่งศึกษาแผนแม่บทรถไฟฟ้า ระยะ 2 ชูประสิทธิภาพการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตของเมือง โดยบูรณาการร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน วันที่ 10 มี.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Defining the 2nd Blueprint for Bangkok Mass Rapid Transit” โดยจัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และสร้างความรู้และความเข้าใจต่อการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) โดยมีตัวแทนหน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับระบบราง ทั้งจากประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมการสัมมนา จำนวนกว่า 150 คน นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งที่ประเทศไทยจะได้เดินหน้าพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเมือง เพื่อช่วยให้การเดินทางของประชาชนเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว และเกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมมีความมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่าง ไทย - ญี่ปุ่นในการพัฒนาแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 นี้ จะประสบความสำเร็จด้วยความร่วมมือร่วมใจและความมุ่งมั่นของทุกฝ่าย ทั้งนี้ สนข.ได้กำหนดระบบขนส่งมวลชนทางรางที่จำเป็นสำหรับกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่องระยะเวลา 20 ปี ตามนโยบายเร่งด่วนของกระทรวงคมนาคมและรัฐบาล ภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของไทย ปี 2558-2565 โดยเบื้องต้นในแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนสายหลักและสายรองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะ 2 (M-Map 2) ได้กำหนดกรอบแนวคิดการพัฒนาและบูรณาการระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครเชื่อมจังหวัดปริมณฑล และจังหวัดในภูมิภาค ประกอบด้วยการใช้รถไฟฟ้าในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เกิดประโยชน์สูงสุด การใช้วัสดุในประเทศและการพัฒนาบุคลากร ลดต้นทุนในการลงทุนระบบ และเป็นรถไฟฟ้าเพื่อคนทุกกลุ่มที่จะรองรับการเดินทางของประชาชนได้อย่างสะดวก รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเมืองบริวารต่อไป ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้สอดคล้องกับการเติบโตของเมือง โดยบูรณาการร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ รวมทั้งมีการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน อย่างไรก็ตามภายหลังการสัมมนาครั้งนี้ ทาง ไจก้า และ สนข. จะรวบรวมข้อมูล ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ นำมาใช้ประกอบการศึกษาจัดทำแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2 (M-MAP 2) ต่อไป สำหรับการสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทฯ โดยมี ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาระบบราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร นำเสนอสาระสำคัญ เรื่อง Thailand’s Rail Transport Infrastructure Development Strategy 2015-2022 ,นายมิกิ อะกิตะ ผู้อำนวยการกองนโยบายและโครงการนานาชาติ สำนักรถไฟ กระทรวงที่ดิน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น นำเสนอสาระสำคัญด้านแผนแม่บทและระบบรางในเมืองของประเทศญี่ปุ่น ,นายคุนิโอะ คะวะคะมิ ผู้อำนวยการโครงการ การรถไฟใต้ดินแห่งกรุงโตเกียว นำเสนอสาระสำคัญด้านสภาพการณ์ในปัจจุบันของการเดินรถไฟในกรุงโตเกียว, ศาสตราจารย์ ดร.ชิเกรุ โมริชิ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบาย สถาบันการศึกษานโยบายแห่งประเทศญี่ปุ่น นำเสนอสาระสำคัญประเด็นหลักในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพฯ จากประสบการณ์การพัฒนาระบบรางในญี่ปุ่นและเอเชีย, นายเดวิด แอนเดอร์สัน ผู้อำนวยการด้านวิชาการ Aurecon Group นำเสนอสาระสำคัญตัวอย่างประสบการณ์การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของออสเตรเลียที่จะมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ และ ศาสตราจารย์ อัตสึชิ ฟุกุดะ Nihon University นำเสนอสาระสำคัญด้านความสำคัญของการพยากรณ์ความต้องการเดินทางต่อการพัฒนาแผนแม่บทระบบราง จากประสบการณ์ในการพัฒนาระบบรางในกรุงเทพฯ และปริมณฑล