“ปลัดคมนาคม” นั่งหัวโต๊ะ จี้บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเตรียมพร้อมเปิดให้บริการ มิ.ย.นี้ หวังเพิ่มความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบัตรใบเดียว นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมว่า โดยมี นายเผด็จ ประดิษฐเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สนข. ผู้แทนจาก สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักการจราจรและขนส่ง กรมทางหลวง (ทล.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมประชุม นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สนข. ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติ (Electronic Toll Collection System: ETCS) ระหว่างบัตร M-Pass ของ ทล. และบัตร Easy Pass ของ กทพ. หลังการเปิดให้บริการระบบ ETC ทำให้ยอดการจำหน่ายบัตรเพิ่มมากขึ้น จากเดิมเฉลี่ยวันละ 442 ใบ เป็นเฉลี่ยวันละ 518 ใบ (ณ เดือนธันวาคม 2559) ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการบัตรอัตโนมัติ (OBU) ในระบบ ETC เพียงพอต่อการให้บริการ สนข. ได้เตรียมประชุมหาแนวทางการบริหารจัดการบัตรอัตโนมัติร่วมกัน ระหว่าง กทพ. ทล. และบริษัททางด่วนกรุงเทพฯ โดยอาจจัดตั้งเป็นกองทุน หรือหักเป็นค่าใช้จ่ายทันทีตามรายการที่เกิดขึ้น หรือวิธีการอื่น รวมถึงพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบใบกำกับภาษี โดยการรวมแต่ละรายการผ่านทางไว้ในฉบับเดียว เพื่อลดภาระการพิมพ์ใบกำกับภาษีของ กทพ. และสะดวกต่อผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องหารือร่วมกับกรมสรรพากรต่อไป สำหรับความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม ร้อยละ 85.98 (ณ เดือนมกราคม 2560) ประกอบด้วย งานจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินงาน งานกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง งานสนับสนุนการจัดหาผู้พัฒนาระบบตั๋วร่วม และการจัดทำศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) โดยการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing Company: CTC) ซึ่ง สนข. ได้ส่งรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐฯ (พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ) ทั้งนี้ ระหว่างดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ได้ให้ สนข. รฟม. และธนาคารกรุงไทย ร่วมกับผู้ให้บริการภาคขนส่งภาคเอกชนที่มีความพร้อม จัดทำแนวทางการใช้ระบบตั๋วร่วมในระยะเริ่มต้นก่อน โดยบูรณาการระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางเพื่อใช้ตั๋วร่วม (CCH) ขณะนี้ได้ดำเนินการเชื่อมต่อระบบกับผู้ประกอบการภาคขนส่งและนอกภาคขนส่ง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีเขียว สายสีแดง และรถโดยสารประจำทาง เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งมวลชนสาธารณะหลายระบบด้วยบัตรใบเดียวมากยิ่งขึ้น คาดว่าจะสามารถเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560