เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่มะม่วงหิมพานต์เกาะพยาม จังหวัดระนอง พร้อมทั้งพบปะให้กำลังใจสมาชิกเกษตรกรกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยาม ณ ศูนย์ประชุมหมู่บ้าน หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะพยาม อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ดร.วิณะโรจน์ กล่าวว่า เกาะพยาม เป็นเกาะเล็กๆ กลางทะเลอันดามัน มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 10,371 ไร่ มีพื้นที่ ส.ป.ก. อยู่ทั้งหมดกว่า 5 พันไร่ สำรวจรังวัดออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ไปแล้วจำนวน 150 ราย 189แปลง รวมพื้นที่ 3,268 ไร่ โดยเกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่ ปลูกมะม่วงหิมพานต์ ประมาณ 4,990 ไร่ ซึ่งมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกบนเกาะพยามเป็นเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ที่มีคุณภาพดี มีชื่อเสียงและมีรสชาติอร่อยกว่าที่อื่น เนื่องจากมีการส่งเสริมการตัดแต่งกิ่งหลังการเก็บเกี่ยวการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนการผลิตและใช้สารชีวภัณฑ์ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้สามารถแปรรูปจำหน่ายได้ในราคาที่ดี ตรงกับความต้องการของตลาด ทั้งนี้ ในระยะหลัง มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่ยวที่เกาะพยามมากขึ้น เกษตรกรจึงมีการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรชุมชนเกาะพยามขึ้น มีสมาชิก จำนวน 60 ครัวเรือน ทำกิจกรรมส่งเสริมการเกษตรเชิงท่องเที่ยว โดยการพานักท่องเที่ยวไปสัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเกาะพยาม เที่ยวชมตลาดใต้ม่วง ซึ่งเป็นตลาดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเกษตรกรโดยตรง การจัดกิจกรรมทัวร์สวนกาหยู โดยมีการสาธิตและให้นักท่องเที่ยวได้ทดลองต้ม อบ คั่ว เผา กะเทาะ ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิม คือ ใช้เตาฟืน และจะทำให้ได้กลิ่นหอมน่ารับประทาน การจัดกิจกรรมดังกล่าว ยังเป็นการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาต่อยอด ก่อให้เกิดรายได้ต่อชุมชนและตัวเกษตรกรเอง รวมทั้งเป็นการทำการเกษตรเชิงอนุรักษ์ควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจในชุมชนขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน นอกจากนี้ เลขาธิการ ส.ป.ก. และคณะ ยังได้เข้าเยี่ยมชมธนาคารปูม้า พร้อมทั้งร่วมปล่อยลูกปูม้า เพื่อเป็นการส่งเสริมและฟื้นฟูอนุรักษ์พันธุ์ปูม้า ตามนโยบายรัฐบาลในการประกอบอาชีพเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืน พร้อมทั้งกล่าวเชิญชวนให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว มาเที่ยวชมตลาดสินค้าเกษตรชุมชนในเขตปฏิรูปที่ดินเกาะพยาม จังหวัดระนอง อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์และเพื่อเป็นกำลังใจแก่เกษตรกร ตลอดจนเป็นการส่งเสริมการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวของเกษตรกรบนเกาะพยามต่อไป