แม้ว่าวันนี้เรื่องของ “Coding” จะถูกผลักดันให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แต่ก็ยังมี “คุณครู” อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และความชำนาญ ด้วยเหตุนี้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ในฐานะหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อนเรื่อง “Coding” จึงได้ดำเนินโครงการ Coding Thailand โดยจับมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และพันธมิตรสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศ 4 สถาบัน ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.), มหาวิทยาลัยบูรพา (ม.บูรพา) และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ในการพัฒนาคุณครูทั่วประเทศ ล่าสุดได้จัดกิจกรรมเวิร์คชอปชนิดเข้มข้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบรรดาคุณครู ผ่านงาน มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู หรือ EDUCA 2019 ที่จัดต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 12 โดยในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิดพลังของชุมชนแห่งการเรียนรู้ (The Power of Learning Community) เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า depa ได้มีโอกาสเข้าร่วมงาน EDUCA เป็นปีที่ 2 ซึ่งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของงานอย่างชัดเจน โดยในปีนี้มีคุณครูให้ความสนใจมาร่วมงานเพิ่มมากขึ้น สำหรับหัวข้อที่ depa จัดขึ้นในครั้งนี้คือ “สนุกกับ Coding ง่ายๆ สไตล์วิทยาการคำนวณ” ในรูปแบบเวิร์คชอปเพื่อให้คุณครูเข้าใจง่าย และสามารถนำไปถ่ายทอดต่อให้กับนักเรียนได้ โดยมีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาหลักในการจัดทำเรื่องของ Coding มาเป็นผู้สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับคุณครูว่าเรื่องของ Coding ไม่ใช่เรื่องยาก เนื่องจากไม่ใช่รายวิชา แต่คือศาสตร์อย่างหนึ่งนั่นเอง ซึ่งเป็นความรู้เบื้องต้นที่สามารถผสมผสานกับวิชาใดๆ ก็ได้ “หัวใจสำคัญของการจัดเวิร์คชอปเรื่อง Coding คือ ทำอย่างไรให้ครูรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใกล้ตัว เหมือนกับที่เราจับมือถือมาดูไลน์ ดูเฟซบุ๊ก ไม่มีใครมาสอนเรา เรื่องของ Coding ก็เช่นกัน โดยหัวใจหลักๆ ของกิจกรรมนี้จะมีอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ทำอย่างไรให้สนุก อันนี้สำคัญที่สุดต้องทำให้สนุก ให้ครูมีความมั่นใจในการสอน พอครูมั่นใจบรรยากาศในการสอนก็จะสนุกสนาน 2.ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนตอบโจทย์ตรงตามตัวชี้วัดของกระทรวงศึกษาธิการ สนุกแล้วก็ต้องตอบโจทย์สาระการเรียนรู้ที่เด็กจะต้องรู้ด้วย และ3.ทำอย่างไรให้เด็กสามารถนำไปประยุกต์ใช้ ให้กลายเป็นนวัตกรรมเล็กๆ หรือโซลูชั่นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ เมื่อนำทั้ง3ส่วนมารวมกัน ก็จะทำให้เด็กมีความคิดที่เป็นกระบวนการ มีตรรกะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้สอดรับกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21” ดร.รัฐศาสตร์ กล่าว ด้าน ดร.ใหม่ เจริญธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า “สำหรับเวิร์คชอปที่นำมาร่วมในงาน EDUCA เราได้นำกิจกรรมบางส่วนที่อยู่ในหลักสูตรการพัฒนาครูประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เน้นที่การสร้าง Active Learning โดยกิจกรรมที่เราหยิบมาใช้จะมีทั้งในส่วนของ Unplugged คือ Coding ที่ไม่ใช้เทคโนโลยีและ Plugged คือ Coding ใช้เทคโนโลยีร่วม โดยจะเน้นในส่วนของ Unplugged เป็นหลักและกิจกรรมของ Plugged บางส่วน เพื่อให้คุณครูสามารถเอาเทคนิคที่ได้ไปใช้สร้างสื่อการเรียนการสอนใหม่ได้ Coding ไม่จำเป็นต้องพึ่งเทคโนโลยีชั้นสูง หรือไม่ต้องมีเรื่องของเทคโนโลยีเลยก็ได้ เพราะ Coding เป็นเรื่องของกระบวนการคิด” ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการได้เตรียมนำเรื่องของ “Coding” บรรจุเป็นหลักสูตร เพื่อให้เด็กไทยทั่วประเทศได้เรียนพื้นฐานการCoding ที่มุ่งเน้นการคิดอย่างมีระบบและการมีความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงความเข้าใจในภาษาดิจิทัล ทั้งนี้ เพื่อต่อยอดไปสู่การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับศตวรรษที่ 21