ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็ประเมินกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีมาตรการต่างๆออกมากระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ปรับลดประมาณการ การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีหน้า (2562) จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะเติบโต 3% - 3.3% เหลือเพียง 2.8% ทั้งที่ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ 4% โดยมองว่าปี 2563 จะขยายตัวได้ 3.3% ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองไปในแนวเดียวกัน คือ คาดว่าการเติบโตจะลดลงเหลือ 2.8% และปี2563 จะเหลือ 3.3% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 3.7% ซึ่งสอดรับกับรายงานของIMF ด้านเอกชนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ ปรับลดการขยายตัวเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2562 และปีถัดไปเหลือ 2.8% ซึ่งภาคเอกชนเห็นต่างจากภาครัฐที่คิดว่าปี 2563 จะฟื้นตัวขึ้นบ้างเล็กน้อย สาเหตุสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเกิดจากการส่งออกที่เคยเป็นตัวจักรสำคัญที่กระตุ้นเศรษฐกิจ ได้ชะลอตัวลงถึงขั้นติดลบ โดยหลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่สงครามการค้า ระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวและมีผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก แต่สาเหตุที่เกิดจากการดำเนินนโยบายโดยตรงของประเทศไทยก็คือ การปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง หากมองย้อนหลังไป 5 ปี จะพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 23% กลับไม่มีการพูดถึงมากนัก ในประเด็นค่าเงินบาทแข็งค่านี้ แม้ว่าจะมีหลายฝ่ายออกมากระตุ้นให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการบางอย่างที่จะป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่ามากนัก เช่น การควบคุมเงินทุนไหลเข้าอันทำให้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังยืนยันว่าจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะการส่งออกของไทยยังเติบโตได้ แม้จะเห็นชัดว่าการเติบโตเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งก็อาจมองว่าเกิดจากสงครามการค้าไม่ใช่จากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตามแม้การส่งออกจะยังคงดำเนินไปได้พอควร แต่เราคงต้องพิจารณาว่าสินค้าด้านการเกษตรนั้น ผู้ส่งออกต้องยอมลดราคาเพื่อให้สามารถขายได้ในราคาเดิมในรูปดอลลาร์ แล้วก็หันมาดำเนินการกดราคาพืชผลการเกษตรภายในประเทศ ทำให้เกษตรกรต้องแบกรับภาระและมีรายได้ลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ก็ส่งออกให้บริษัทแม่ ซึ่งกำไรจะไปตกอยู่ต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ กระนั้นก็ตามการส่งออกของไทยก็มีแนวโน้มที่จะลดลงอีกอย่างต่อเนื่อง โดยคาดกันว่าในปีนี้จะติดลบถึง 2.5% โดยที่ภาครัฐต่างก็ไปมุ่งประเด็นสงครามการค้าว่าเป็นสาเหตุหลัก แต่ไม่ให้ความสำคัญกับค่าเงินบาทมากนัก และไม่พูดถึงขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวในการค้าระหว่างประเทศของไทย ที่ศักยภาพลดลงมาโดยตลอด ยิ่งมาถูกตัด GSP จากสหรัฐก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะจะไปโทษว่าGSPเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้การส่งออกไทยตกต่ำ ที่รัฐบาลไม่ให้ความสำคัญเรื่องค่าเงินบาทมากนัก เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยยังยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อการส่งออกมากนัก แต่ในเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงบางเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้น รัฐบาลอาจมองว่ามันแก้ยากและไม่ส่งผลต่อคะแนนนิยมทางการเมือง เฉพาะหน้ามากนัก จึงหลีกเลี่ยงที่จะพูดกล่าวถึง หรือดำเนินมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจึงออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย เฉพาะหน้า เช่น มาตรการ ชิมช้อปใช้ ซึ่งสร้างแต่ความฮือฮา คะแนนนิยมทางการเมือง แต่ไม่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟสแรกมีคนลงทะเบียน 10 ล้านคน โดยรัฐบาลให้เงินชดเชย 1,000 บาท แต่คาดว่าประชาชนจะใช้จ่ายเพิ่มโดยให้เติมเงินเที่ยวเองอีกคนละไม่เกิน 3 หมื่นบาท รัฐบาลจะให้เงินคืน 15% แต่กระสุนด้านประชาชนส่วนใหญ่ใช้จ่ายแค่ 1,000 บาท ในการซื้อสินค้า จึงทำให้การคาดหวังในปฏิกิริยาลูกโซ่เกิดน้อยมาก เฟส 2 ก็คงจะมีปัญหาเช่นเดียวกัน รัฐบาลจึงมีมาตรการกระตุ้นด้านอสังหาริมทรัพย์คือ ลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจากเดิม 2% เหลือ 0.01 % ค่าจดทะเบียนการจำนองจากเดิม 1% เหลือ 0.01% เฉพาะการซื้อขายบ้านพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ยังให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ออกสินเชื่อวงเงินรวม 50,000 ล้านบาท ให้แก่ที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง (ทำนองบ้านหลังแรก) วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาท ดอกเบี้ยคงที่ 2.5% ในช่วง 3 ปีแรก ทั้งนี้มีระยะเวลาถึง 24 ธ.ค. 2563 แต่มีข้อพิจารณาที่เห็นได้ชัดว่ามาตรการเรื่องอสังหาริมทรัพย์นี้มุ่งที่จะให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านนี้ เพราะมีการก่อสร้างจนเกินความต้องการของตลาด เนื่องจากบางส่วนก็คาดว่าจะได้ลูกค้าจากจีน ซึ่งหลังจากเกิดสงครามการค้าและค่าเงินบาทแข็งค่า ลูกค้าจีนก็ทยอยหดหาย บางส่วนถึงกับยอมให้ยึดเงินจองก็มี ที่สำคัญกำลังซื้อของคนชั้นกลางและระดับล่างต่างหดตัวรายได้ลดลง แม้เศรษฐกิจโดยทั่วไปจะเติบโตมาตลอด แต่การกระจายรายได้ยิ่งถ่างตัวออกไปทุกที เพราะรายได้ที่เติบโตขึ้นไปตกอยู่กับคนระดับบนที่เป็นเศรษฐกิจ อภิมหาเศรษฐี นายทุนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อกำลังซื้อของคนระดับกลางและล่างลดลง สินค้าอุปโภคบริโภคก็มียอดขายรวมลดลง ทำให้เป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจชะลอตัวในอีกด้านหนึ่ง เรื่องนี้ให้สังเกตว่าปริมาณหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นมาก จนเกินรายได้ต่อหัวไปแล้ว ฉะนั้นการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายเพิ่มจึงไม่สุ้ได้ผล เพราะหนี้ท่วมหัวอย่างนี้ใครจะไปจับจ่ายอะไรมากนอกจากของจำเป็น ในอีกด้านหนึ่งการที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้งบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะก็เพิ่มขึ้น แม้ขณะนี้จะยังไม่ถึงระดับอันตราย คือ อยู่ในระดับที่ 40% เศษของ GDP แต่ก็ยังไม่นับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจและอื่นๆ ที่สำคัญหนี้สาธารณะก็ยังคงเพิ่มต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเพิ่มงบลงทุนและยังเพิ่มงบการซื้อขายอาวุธ ซึ่งอย่างแรกก็ต้องรอว่าผลจากการลงทุนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างหลังคือการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้น มันไม่ส่งผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากภาระทางการเงิน ซึ่งในระยะยาวก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอีกมาก นอกจากนี้รัฐบาลยังต้องใช้จ่ายเป็นจำนวนมากเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรที่ถูกกดราคา โชคดีของรัฐบาลนี้ ที่ฝ่ายค้านไม่มีน้ำยาพอ และมัวไปเล่นงานรัฐบาลในจุดเล็กๆ ที่ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับประชาชนส่วนใหญ่ พลังนักศึกษาก็อ่อนแอ รัฐบาลนี้จึงสามารถลอยตัวต่อไปได้ แต่ก็อาจจะสร้างความเสียหายให้ประเทศในระยะยาวได้เพราะหากไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการกระจายรายได้ การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ที่สอดรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างเพียงพอและชาญฉลาดก็คงไปไม่รอด การมุ่งที่จะโฆษณาชวนเชื่อไม่สามารถปิดบังความจริงได้ และเมื่อความจริงมันฟ้อง ก็ย่อมกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งก้เป็นผลพวงมาจากการที่รัฐบาลมุ่งสร้างความมั่นคงของตนเอง ด้วยการสร้างคะแนนนิยม แต่ไม่มีผลอย่างแท้จริงต่อพัฒนาการเศรษฐกิจของชาติ ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ประเทศไทยก็คงจะต้องเป็นคนป่วยแห่งเอเชียต่อไป ขณะที่เพื่อนบ้านเขาก้าวเดินล้ำหน้าไปทีละประเทศแล้ว