เอ่ยถึง “แคลิฟอร์เนีย” รัฐทางฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ต้องถือว่า เป็นรัฐที่มั่งคั่งรัฐหนึ่ง ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบในระดับประเทศ ก็ต้องบอกว่า นี่คือ ดินแดนที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ทั้งนี้ มิใช่แต่เฉพาะด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แม้แต่ในเรื่องวัฒนธรรม แฟชั่นยุคสมัยนิยมแล้ว “แคลิฟอร์เนีย” ก็ยืนอยู่แถวหน้าชั้นนำของโลก คือ เป็นผู้นำให้ประชาชีชาวเมืองในประเทศอื่นๆ เดินตามกระแส ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์ฮอลลีวูด และเพลงดนตรีสากลยอดฮิตในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่นับที่รัฐแห่งนี้ยังเป็นที่ชุมนุมของเหล่าเซเลบคนดังต่างๆ หลากหลายวงการ โดยเป็นถิ่นพำนักอีกแห่งหนึ่งของบรรดาคนดังเหล่านั้น ด้วยประการฉะนี้ “แคลิฟอร์เนีย” จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “รัฐทอง (Golden State)” ซึ่งนอกจากสถานะในความเป็นรัฐชั้นนำด้านต่างๆ ข้างต้นแล้ว ในประวัติความเป็นมาของ “รัฐแคลิฟอร์เนีย” ครั้งหนึ่งสมัยหนึ่ง เคยเป็นจุดหมายปลายทาง แบบถนนทุกสายมุ่งสู่รัฐแคลิฟอร์เนียแห่งนี้ ทั้งจากอเมริกันชนเอง รวมไปถึงประชาชนจากประเทศต่างๆ เดินทางไปทำมาหากิน ในลักษณะ “ขุดทอง” ซึ่งมีทั้งไปขุดแร่ทองคำจริงๆ และการเข้าไปประกอบอาชีพอื่นๆ ในฐานะที่เป็นดินแดนที่มีเศรษฐกิจดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เมื่อช่วงกลางของคริสต์ศวรรษที่ 19 หรือในราว ค.ศ. 1848 (พ.ศ. 2391) อย่างไรก็ดี “แคลิฟอร์เนีย” รัฐทองแห่งนี้ ก็ต้องผจญกับชะตากรรมจาก “ไฟป่า” ทุกปี ที่เมื่อเปลวโฟโหมลุกโชนในแต่ละครั้ง ก็นำมาซึ่งความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล โดยทางการสหรัฐฯ เริ่มเก็บสถิติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน โดยถ้าว่าตามสถิติเรื่องความสูญเสียในชีวิตของผู้คน ก็ต้องบอกว่า เหตุไฟป่าเมื่อปีที่แล้วหนักที่สุด เพราะคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 86 ราย ด้วยกัน และเหตุไฟป่าปี 2561 อันมีชื่อว่า “แคมป์ไฟป่า” ก็เผาทำลายเมืองบางเมือง จนวอดวายไปแบบทั้งเมืองเลยทีเดียว นั่นคือ เมืองพาราไดซ์ ในรัฐดังกล่าว ส่วนไฟป่าในปี 2019 (พ.ศ. 2562) ล่าสุด แสงเพลิงก็ได้เริ่มปะทุขึ้นเมื่อราวกลางเดือน ต.ค.ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ซึ่งเริ่มจากย่านเอลโรดาโร ก่อนโหมไหม้ลุกลามไปเป็นบริเวณกว้างสู่ย่านอื่นๆ ได้แก่ ย่านคินเคด ทางตอนเหนือ รวมถึงพื้นที่ทำไวน์ปลูกไร่องุ่นในแถบโซโนมา และย่านทิค ย่านเก็ตตี ทางตอนใต้ ไม่เว้นแม้แต่ย่านนครลอสแอนเจลิส ที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งถึงแม้ทางการได้ระดมเจ้าหน้าที่ผจญเพลิงจำนวนมากกว่า 1,100 นาย แต่ปรากฏว่า ไฟป่ายังคงลามไหม้ไปอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกระแสลมที่พัดกระหน่ำอย่างแรงจัด ที่วัดขนาดความเร็วลมได้ระดับเกินร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมงในพื้นที่ประสบภัย ก็ช่วยให้เปลวไฟโหมไหม้ไปเป็นบริเวณกว้าง คิดเป็นพื้นที่รวมแล้วกว่า 1.87 หมื่นไร่ อาคารบ้านเรือนหลายร้อยหลังคาเรือนถูกพระเพลิงเผาผลาญมอดไหม้เป็นจุณ ถึงขนาดที่ผู้ว่าการรัฐฯ อย่าง นายแกวิน นิวซอม ต้องประกาศ “ภาวะฉุกเฉิน” แก่รัฐที่เขาบริหารปกครอง พร้อมกับมีคำสั่งอพยพประชาชนจำนวนหลายแสนคนออกจากบ้านเรือนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว หรือสถานที่ปลอดภัย เพื่อหลีกเลี่ยงถึงความสูญเสียในชีวิตของผู้คน โดยในเหตุไฟป่าที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ก็มีรายงานว่า พบผู้เสียชีวิตจากไฟป่าปีนี้เบื้องต้น 3 ราย ด้วยกัน ท่ามกลางความคาดหมายว่า จำนวนผู้เสียชีวิตน่าจะเพิ่มขึ้นจากที่มีรายงานไปข้างต้น ใช่แต่เท่านั้น เหตุไฟป่าที่ปะทุขึ้นยังส่งผลสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวรัฐแคลิฟอร์เนียไปเป็นบริเวณกว้างยิ่งกว่า โดยประชาชนจำนวนนับล้านคนต้องอยู่ในสภาพไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากทางบริษัทผู้ให้บริการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปตามบ้านเรือน ได้กระแสไฟฟ้า ทั้งเพื่อป้องกันไฟป่าลุกลาม และเพื่อให้เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิง สามารถผจญเพลิงไฟป่ากันได้อย่างสะดวกโยธินยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับบริษัทผู้ให้บริการจ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าว ซึ่งทราบชื่อภายหลังว่า “บริษัท แก๊สและไฟฟ้าแปซิฟิก” หรือ “พีจีแอนด์อี (Pacific Gas & Electric)” ถูกตำหนิอย่างรุนแรงในเหตุไฟป่าในช่วงเวลาที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งเหตุไฟป่าที่พระเพลิงกำลังโหมลุกไหม้ ณ เวลานี้ว่า คือ ตัวต้นเหตุที่ทำให้เกิดเหตุไฟไหม้ป่าดังกล่าว ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า เหตุไฟป่า จำนวน 19 ครั้งใหญ่ในห้วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเหตุไฟป่าเมื่อปีที่แล้ว หรือที่เรียกว่า แคมป์ไฟร์ ที่มีผู้เสียชีวิตเกือบ 90 คน นั้นด้วย ล้วนมีปัจจัยจากอุปกรณ์ของพีจีแอนด์จีเป็นสาเหตุสำคัญ โดยเฉพาะเกี่ยวอุปกรณ์ “สายไฟ” ที่พาดผ่านตามจุดต่างๆ ในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ซึ่งถูกระบุว่า หลายแห่งมีอายุการใช้งานมานานแล้ว หรือเก่าแล้ว นั่นเอง เมื่อถูกกิ่งไม้หักลงมาพาด ก็ทำให้สายไฟขาด เกิดการลัดวงจรช็อต ก่อเป็นประกายไฟ และลุกไหม้ ส่งผลให้รัฐที่ได้รับสมญานามว่า “รัฐทอง” ต้องกลายเป็นดินแดนสยองภัยพิบัติจากหายนะอย่างที่เห็น