ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับ "โปเกมอน โก" (Pokemon Go)มีออกมาให้ได้ยินกันเป็นระยะ ซึ่งถ้าใครเป็นคอเกม แฟนการ์ตูนแล้วก็คงจะไม่งงอะไรเพราะคุ้นกันกันอยู่ แต่สำหรับคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนคงต้องมีสงสัยกันแน่ว่ามันคือผลิตภัณฑ์ใหม่ เทรนด์ใหม่หรืออย่างไรกัน ถึงได้มีคนพูดถึงกันเยอะขนาดนี้ โปเกมอน โก กลายมาเป็นหนึ่งในแอพพลิเคชั่นยอดนิยมทางโทรศัพท์สมาร์ทโฟนทั้งในแพลตฟอร์มไอโอเอส และแอนดรอยด์ และได้กลายเป็นเกมที่ประสบความสำเร็จสูงสุดตั้งแต่มีการสร้างเกมให้อยู่ในรูปแบบของแอพฯ เลยก็ว่าได้ เนื่องจากอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า มีคนรู้จักอยู่แล้ว มีฐานลูกค้าที่มีความซื่อสัตย์สูงเป็นของตัวเอง และเมื่อเปลี่ยนรูปแบบตามนวัตกรรมเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น จึงไม่แปลกอะไรที่จะสามารถดึงเหล่าสาวกให้มาติดงอมแงมได้อย่างง่ายดาย ต่างจากแอพพลิเคชั่นเกมอื่นๆ ที่เหมือนจะเป็นพลุแตกในตอนต้น แต่ก็สว่างไสวแค่เพียงชั่วคราวแล้วก็ดับไปเลย ย้อนกลับไปเมื่อปี 2542 บริษัทญี่ปุ่นได้แนะนำให้โลกรู้จักโปเกมอน เป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ "โปเกมอน เรด แอนด์ บลู" ตั้งแต่นั้นก็มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับโปเกมอนออกมาทั้งการ์ดเกม ซีรีย์การ์ตูนทางโทรทัศน์ วิดีโอเกม และภาพยนตร์มากมาย เรียกว่าสร้างจินตนาการให้เด็กเล็ก เด็กโต และผู้ใหญ่จำนวนไม่น้อยคิดฝันอยากจะเป็นเทรนเนอร์เหมือนอย่างในเกม เกมเมอร์สาวสวมบทเทรนเนอร์ในเกมโปเกมอน โก ที่หน้าบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สิ่งที่เคยเป็นความฝันในอดีต วันนี้เป็นจริงแล้วจนในยุคโปเกมอน โก ที่ค่ายไนแอนติก ใช้เทคโนโลยีจีพีเอส และข้อมูลแผนที่ ทำให้ผู้เล่นสามารถสวมบทบาทเป็นเทรนเนอร์ตามจับโปเกมอนได้ในโลกจริง แค่เดินออกไปตามละแวกท้องถิ่นที่อยู่อาศัย เมื่อจับได้แล้วก็นำมาฝึกฝนให้ต่อสู้กับโปเกมอนตัวอื่น เรียกว่า หยิบจินตนาการร่วม 15 ปีที่แล้วมาทำให้เป็นจริงได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้ใครๆ ก็พูดถึงแต่โปเกมอน โก อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีแต่ความน่าทึ่งของเทคโนโลยีที่ทำให้โปเกมอน โก กลายเป็นกระแสไปทั่วโลก แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มจะมีเสียงแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบด้านต่างๆ ของแอพฯ เกมนี้ออกมาเรื่อยๆ แม้แต่ในประเทศไทยที่ยังไม่สามารถเล่นเกมนี้ได้ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่จะต้องใช้ในการเชื่อมตัวกับแอพฯ รวมทั้งประเด็นความมั่นคงต่างๆ แต่ก่อนที่เราจะฟันธงว่าเกมฮิตที่สาวกในอีกหลายประเทศตั้งตารอนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร วันนี้เรามีปรากฏการณ์ที่โปเกมอนโกได้สร้างความเปลี่ยนแปลง และเหตุการณ์ไม่คาดคิดหลายอย่างที่เกิดขึ้น อย่างน้อยก็จะได้รู้ไว้ว่าเหรียญนั้นมี 2 ด้าน ที่ประตูบรันเดนเบิร์ก ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนีก็กลายเป็นบานต่อสู้ของเหล่าเทรนเนอร์ เริ่มจาก การมาของโปเกมอน โก ช่วยเหลือธุรกิจท้องถิ่นโดยไม่ได้ตั้งใจ เพราะเนื่องจากเกมนี้อาศัยพิกัดสถานที่ต่างๆ ในโลกจริงเป็นสถานที่ดำเนินเรื่อง จึงไม่แปลกอะไรที่ตามร้านค้า ร้านอาหาร หรือสถานที่ออกกำลังกาย สวนสาธารณะจะเต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาชุมนุมกันเพื่อเล่นเกม บางที่ได้ต้องรับลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีโอกาสจะสั่งอาหาร หรือจับจ่ายใช้สอย ในระหว่างที่จับโปเกมอน ไม่เพียงธุรกิจท้องถิ่นเท่านั้น แม้แต่ตามพิพิธภัณฑ์ หรืออุทยานแห่งชาติต่างๆ ที่บางคนไม่เคยคิดจะไปเหยียบแต่พอได้ออกไปตามล่าโปเกมอนในเกมแล้ว ก็คงเป็นโอกาสดีที่จะได้ใช้เวลาอีกสักหน่อยเดินดูให้รอบ หาความรู้ไปในตัว เพราะไหนๆ ก็มาแล้ว โปเกมอน โก ยังจุดประกายสร้างรายได้ให้กับคนที่มีหัวคิดทางธุรกิจได้รับเงินอย่างง่ายๆ อย่างชายคนหนึ่งบัลติมอร์ ที่ลงโฆษณาทางอินเตอร์เน็ตรับจ้างขับรถพาเหล่าเกมเมอร์ตะลอนไปตามที่ต่างๆ ในเมืองเพื่อให้พวกเขาได้พวกเขาสามารถจับโปเกมอนได้เร็วกว่าเดิม หรือจะเป็นพวกรับจ้างเก็บเวลเวลที่ตอนนี้สนนราคาในตลาดอยู่ที่ชั่วโมงละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อย่างหลังนี้ก็มีความเสี่ยง เพราะคุณจะต้องให้ข้อมูลส่วนบุคคลกับคนแปลกหน้า อานิสงค์ต่อมาก็คือ ตอนนี้หุ้นของนินเทนโด บริษัทผู้สร้างเกมยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ที่ออกเกมมาครองใจเด็กๆ มาแล้วหลายยุคหลายสมัยพุ่งขึ้นแล้วร้อยละ 56 ทำให้บริษัทมีมูลค่ารวมมากขึ้นอีกกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ความสำเร็จนี้ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน เพราะเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงที่เกมออกมา ก็มีการติดตั้งแอพฯ ในระบบแอนดรอย์ถึงร้อยละ 5 ของจำนวนอุปกรณ์ในสหรัฐฯ แซงแอพฯ ยอดฮิตอย่างทินเดอร์ (Tinder) และไล่หลังแอพฯ สื่อสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์มาติดๆ แต่โชคไม่ดีที่แอพฯ เกมนี้กลายเป็นช่องทางของเหล่ามิจฉาชีพที่ล่อลวงให้เหยื่อมาติดกับด้วยตัวเอง มีรายงานว่า ชาย 4 คนในรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐฯ ใช้การสื่อสารในแอพฯ หลอกให้คนเล่นเกมมาพบที่สถานที่ต้องการ แล้วลงมือปล้นเอาสมาร์ทโฟนราคาแพง ทั้งสี่ถูกจับได้ถูกตั้งข้อหาโจรกรรม หรือบางครั้งเกมเมอร์ก็อาจจะไปเจอเรื่องช็อคโดยไม่ตั้งใจเหมือนอย่างเด็กสาววัย 19 ปี จากรัฐไวโอมิง ที่ตามล่าโปเกมอนอยู่ดีๆ มาถึงริมแม่น้ำก็พบวัตถุต้องสงสัยลอยอยู่ ดูไปดูมากลายเป็นศพคนทำเอาเธอร้องไห้กระจาย กว่าจะตั้งสติเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ เบื้องต้นตรวจสอบพบว่าเป็นคนที่ประสบอุบัติเหตุจมน้ำ ที่สถานีรถไฟใต้ดินในนครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ถึงกับต้องประกาศเตือนเหล่านักเล่นเกมให้	ระมัดระวังความปลอดภัยในการเล่นเกม อย่างไรก็ตาม บางครั้งการที่ยังไม่มีการกลั่นกรองพื้นที่เพราะอาศัยเพียงข้อมูลแผนที่จึงทำให้บ่อยครั้งผู้เล่นอาจเสี่ยงเข้าไปในพื้นที่อันตรายที่ไม่ควรเข้าโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะรู้ตัวแต่ไม่ยั้งใจ เมื่อบริษัทเดินรถไฟในเนเธอร์แลนด์ได้ติดต่อกับบริษัทเพื่อให้ทำการเปลี่ยนแปลงไม่ให้มีโปเกมอนปรากฎใกล้ๆ บริเวณรางรถไฟเพราะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ส่วนที่บอสเนียได้มีการออกประกาศเตือนหลังพบว่ามีผู้เล่นได้เข้าไปยังบริเวณเหมืองที่ยังไม่มีการสำรวจ นอกจากนี้ก็ยังมีสถานที่ที่ไม่ควรจะเข้าไปหากไม่มีความจำเป็น เช่นโรงพยาบาล สถานีตำรวจ หรือพื้นที่ทหาร ซึ่งหลายๆ ที่ได้ออกคำเตือนแล้วถึงผลกระทบในการฝ่าฝืนเข้าไปในเขตหวงห้ามว่าอาจจะมีอันตราย รวมทั้งเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย เหมือนอย่างกรณีที่อินโดนีเซียสัปดาห์ที่ผ่านมา มีชายชาวฝรั่งเศสวัย 27 ปี ถูกจับกุมตัวในอินโดนีเซีย เพราะบุกรุกเข้าพื้นที่ทหารในระหว่างวิ่งออกกำลังกายตอนเย็น โดยเจ้าตัวบอกว่าพยายามจะเข้าไปจับโปเกมอน กรณีสุดท้ายที่อยากจะยกมาไว้ให้เป็นบทเรียนราคาแพง เพราะโปเกมอน โกทำให้คนตกงานมาแล้ว หลายคนอาจจะติดเกมจะสะโหลสะเหลมาทำงาน ทำให้ศักยภาพในการทำงานลดลง แต่กรณีที่ถูกไล่ออกที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์นั้นไม่ได้มาจากเล่นเกม แต่ก็ถือว่าเพราะเกมเป็นเหตุเหมือนกัน เพราะชายชาวออสเตรเลียรายหนึ่งที่ทำงานอยู่ในสิงคโปร์ซึ่งยังไม่เปิดให้เล่นเกมนี้ได้นั้น ได้ไปโพสต์ข้อความค่อนข้างหยาบคายบ่นว่าประเทศห่วยแตกไม่สามารถจับโปเกมอนได้ เท่านั้นหล่ะเจ้าของบริษัทก็เลยอัญเชิญนายคนนี้กลับไปจับโปเกมอนที่บ้านซะเลย