เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่รัฐสภา นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นักการเมืองออกมาวิจารณ์เรื่องพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่มีความเท่าเทียมโดยเฉพาะการพิจารณาลับหลังจำเลยได้ว่า นักการเมืองถือเป็นกรณีพิเศษ เพราะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจเวลาทำอะไรผิดจะกระทบบ้านเมืองอย่างรุนแรง ถ้าใช้กระบวนการปกติจะดูแลผลประโยชน์ของประทศชาติได้ยาก จึงสร้างกลไกดังกล่าวขึ้นมา โดยปัญหาที่มีอยู่คือ ทุจริตจนร่ำรวยจนหนีคดีไปต่างประเทศได้ การบังคับใช้กฎหมายก็ทำได้ แต่ในทางกลับกันใช้สิทธิ์มาฟ้องคนอื่นได้ ถือว่าไม่เป็นธรรมกับคนทั่วไป ดังนั้นเราก็ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ริดรอนเลย คุณอยากมาก็มาไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา โดยให้การยืนยันว่าหากเขียนกฎหมายให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ แล้วเรื่องอายุความก็ไม่ต้องมี แต่ในวันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้เสนอให้ใช้ทั้งสองแนวทางควบคู่กันไปทั้งเรื่องอายุความและพิจารณาคดีลับหลังได้ แต่กรธ.ก็คิดว่าจะไม่เป็นธรรม เพราะหากเรื่องอายุความถูกเลื่อนไปมากๆ จะทำให้การแสวงหาความจริงเป็นไปได้ยาก คนที่ถูกฟ้องก็จะลำบาก เพราะจะหาพยานไม่ได้ ดังนั้นการพิจาณาคดีลับหลังได้ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่า เพราะพยานยังสดอยู่ ผิดก็ผิดถูกก็ถูก อย่างไรก็ตามมีเพียงคดีบางประเภทเท่านั้นที่กรธ.กำหนดอายุความไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ คือ เรื่องแปรญัตติงบประมาณไปให้ส.ส.ใช้ โดยสามารถฟ้องร้องได้ภายใน 20 ปี นายมีชัย กล่าวอีกว่า กรธ.ยังยืนยันว่าภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จากเดิม เมื่อศาลฎีกาตัดสินไม่สามารถอุทธรณ์ได้ แต่ขณะได้เปลี่ยนแปลงสามารถอุทธรณ์ได้ โดยมีสาระสำคัญจำเลยต้องมาแสดงตนต่อศาล หากไม่มาถือว่าสละสิทธิ์