สัปดาห์วิจารณ์/W7047(คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก) ชีวิตช้าลง...ที่หลวงพระบาง (จบ) กนก กนธี [email protected] สัปดาห์นี้ 'กนก กนธี' ยังคงพาแฟนๆ คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก ไปร่วมกิจกรรมสุดคูล และตระเวณเที่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวสุดเจ๋ง กับสีสันของหลวงพระบาง ที่กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเต็มรูปแบบจะสนุกสุดมันส์เพียงใดนั้น หาอ่านได้ นิตยสารสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์เท่านั้น ชมการตักบาตรข้าวเหนียว เริ่มต้นเช้ามืดของวันใหม่ ' กนก กนธี' ออกจากที่พัก เพื่อไปชมการตักบาตรข้าวเหนียว หลวงพระบาง ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวหรือคนหลวงพระบางเอง และสถานที่สำหรับตักบาตรข้าวเหนียวยอดนิยมหาได้ไม่ยาก เพราะคนส่วนใหญ่จะ ไปรออยู่บริเวณหน้าวัดแสนสุขาราม ห่างจากที่พักไม่ไกลนัก หรือบางคนอาจจะไปสายหน่อย ก็ไม่พลาดกับไฮไลท์เด็ดๆ เพราะพระภิกษุสงฆ์ที่ออกเดินบิณฑบาตมีเป็นจำนวนมาก มาจากหลายเส้นทางแต่ละกลุ่มจะมีประมาณหลายสิบรูป ดังนั้นนักท่องเที่ยว และคนหลวงพระบาง จึงมักนั่งรอตักบาตรข้าวเหนียว บนเสื่อที่ปูไว้รองรับเป็นทางยาวเพียงเสียค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 10,000 กีบเท่านั้น ตักบาตรข้าวเหนียว หลังจากตักบาตรข้าวเหนียว พร้อมเก็บรูปไว้เป็นที่ระลึกเสร็จเรียบร้อย 'กนก กนธี' ใช้เวลาในช่วงเช้าๆ อากาศร่มรื่นเย็นสบายเดินเล่นชมเมืองดู ตลาดยามเช้าของหลวงพระบาง ซึ่งชาวบ้านต่างออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของจากตลาดเพื่อนำกลับไปปรุงเป็นอาหารที่บ้าน สำหรับสินค้าที่วางขายอยู่ทั่วไป มีตั้งแต่ ผัก ผลไม้ อาหารปรุงสำเร็จ ขนมพื้นบ้าน ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เนื้อสัตว์ทั่วไป รวมถึงปลาแม่น้ำโขงและสัตว์ป่านานาชนิด ที่คนลาวนิยมนำมาปรุงอาหาร เรียกได้ว่าโดยพื้นเพแล้วตลาดเช้าหลวงพระบางแห่งนี้เป็นตลาดเพื่อคนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ระหว่างทางไปตลาดเช้า สำหรับตลาดเช้าหลวงพระบางเป็นตลาดสดแบบดั้งเดิมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศลาว และที่สำคัญการมาเดินเที่ยวตลาดท้องถิ่นแบบนี้ นอกจากจะได้สัมผัสวิถีชีวิตของผู้คนแล้ว ยังสามารถหาอาหารมื้อเช้ากินในราคาประหยัดได้อีกด้วย เพราะไม่ไกลจากตลาดมากนัก จะมีร้านกาแฟยามเช้าริมโขงที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก นั้นก็คือ ร้านกาแฟประชานิยม ตลาดเช้าหลวงพระบาง ลิ้มรสกาแฟลาวต้นตำรับ ซึ่งถ้าใครมาเที่ยวหลวงพระบางแล้วไม่ได้มาลองชิม กาแฟประชานิยมแล้ว เหมือนจะมาไม่ถึงเมืองนี้ เพราะฉะนั้น 'กนก กนธี' จึงไม่พลาดที่จะสั่งทั้งกาแฟ ปาท่องโก๋ และขนมสารพัดอย่างมาลองลิ้มชิมรสชาติ พร้อมกวาดสายตาดูความเป็นมาของบ้านเมือง และจากที่สังเกตบริเวณดังกล่าวนี้แม้จะเป็นร้านกาแฟเล็กๆ แต่คราคล่ำไปด้วยผู้คน ทั้งชาวเมืองหลวงพระบางและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่พิศมัยในรสชาติและกลิ่นอันหอมรัญจวนของกาแฟลาวต้นตำรับ ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 30 ปี ร้านกาแฟประชานิยม โดยกาแฟประชานิยมจะใช้เมล็ดกาแฟจากปากซ่อง และชงด้วยนมข้นหวานให้รสชาติออกมาเข้มข้นหวานมัน นอกจากนี้บนโต๊ะจะมีปาท่องโก๋ ซึ่งชาวหลวงพระบาง จะเรียกว่า ขนมคู่ ให้ลูกค้าหยิบแกล้มกาแฟได้ตามสะดวก ในราคาแก้วละ 20 บาท นอกจากนี้ร้านข้างๆที่อยู่ติดกันยังมีเฝอน้ำ ข้าวเปียกเส้น และไข่ลวกให้บริการอีกด้วย ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์วัดเชียงทอง ส่วนอีกหนึ่งไฮไลท์สำคัญ สำหรับใครที่มาหลวงพระบางแล้วไม่ได้มายัง วัดเชียงทอง ก็เหมือนกับว่ายังมาไม่ถึงหลวงพระบาง ด้วยมีสิ่งที่น่าสนใจภายในวัดแห่งนี้มากมาย โดยเฉพาะสิมของวัดนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้าง ทีเดียว ซึ่งจากข้อมูลที่ได้รับทำให้ 'กนก กนธี' รับรู้ว่า วัดเชียงทอง ได้รับการยกย่องว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมล้านช้างที่งดงามที่สุดในดินแดนลาว สร้างขึ้นในช่วงพ.ศ.2102-2103 ในสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ถือเป็นวัดสำคัญวัดเดียวที่ไม่ถูกเผาทำลายในศึกฮ่อธงดำบุกปล้นเมืองหลวงพระบาง ใน พ.ศ. 2428 ต้นทองด้านหลังสิมวัดเชียงของ โดย วัดเชียงทอง มีสิม หรือ โบสถ์ เป็นหัวใจของวัด ได้รับการยกย่องว่า เป็นสิมแบบล้านช้างสมบูรณ์ที่สุด หลังคาสิมสร้างโค้งอ่อนช้อยทรงปีกนกเป็น 3 ชั้น ลดหลั่นปกคลุมต่ำลงมา บนสันกลางคามี ช่อฟ้า17 ช่อ บ่งบอกถึง การเป็นวัดที่กษัตริย์สร้าง ส่วนโหง่ ที่เป็นส่วนยอดสุดของหน้าบันหรือช่อฟ้าในเมืองไทย ทำเป็นรูปเศียรพญานาคชูคออ่อนช้อยสวยงาม หอพระม่าน สำหรับภายในสิมหลังงาม จะประดิษฐาน พระองค์หลวง พระประธานที่ดูเคร่งขรึม ประตูสิมด้านหน้าเป็นงานแกะสลักไม้อันอ่อนช้อย ผนังด้านนอก และด้านใน รวมถึงที่หน้าบัน ตกแต่งด้วยพอกคำ หรืองานลงรักปิดทองอย่างสวยงาม ขณะที่ผนังสิมด้านหลัง หรือด้านนอก จะประดับลายดอกดวง หรือลายกระจกสี ทำเป็นรูปต้นทอง ท่ามกลางสัตว์หลายชนิดกับตำนานนิทานพื้นบ้าน และเป็นที่มาของชื่อเมืองเชียงทอง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของหลวงพระบาง เนื่องจากในอดีตเมืองนี้มีต้นทองอยู่มาก โดยเฉพาะที่วัดเชียงทองแห่งนี้เคยมีต้นทองยักษ์ขนาดหลายคนโอบ ด้วยเหตุนี้เมื่อเจ้าศรีสว่างวัฒนาทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดเชียงทอง จึงได้ให้ช่างทำลวดลายประดับดอกดวงเป็นรูปต้นทองไว้ที่ด้านหลังสิมเพื่อระลึกต้นทองยักษ์ในอดีต ชมการแกะสลักไม้สีทอง เช่นเดียวกับผนังด้านนอกของหอพระม่าน และ หอพระพุทธไสยาสน์ ที่ด้านหลังสิมจะมีการประดับลายดอกดวงเล่าเรื่องราวคติสอนใจจากนิทานพื้นบ้าน และภาพวิถีชีวิตชาวหลวงพระบางในอดีต โดยหอพระม่าน และหอพระพุทธไสยาสน์ แม้จะตั้งอยู่คู่กัน แต่โดยส่วนใหญ่หอพระม่านนั้นปิดใส่กุญแจไว้ ที่ประตูมีช่องเล็กๆให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปดูพระพุทธรูปภายใน ซึ่งมีคนขึ้นไปดูกันมากจนงานปิดทองลอกเห็นแต่รักสีดำ พระม่านถือเป็น 1 ใน 3 พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพระบาง โดยอีก 2 องค์ คือ พระบางและพระเจ้าองค์แสน ที่จะอัญเชิญออกมาให้ประชาชนได้สักการะกันในช่วงสงกรานต์เช่นเดียวกับพระบาง ขณะที่ หอพระพุทธไสยาสน์ นั้นเปิดให้เข้าชมได้ โดยภายในจะประดิษฐานพระนอนอายุกว่า 400 ปี อีกทั้งยังมีพระพุทธรูปเสี่ยงทายให้อธิษฐานแล้วยกกัน ถ้าพรจะสมหวัง ครั้งแรกจะยกขึ้น ครั้งที่สองยกไม่ขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งจุดที่มีคนไทยไปอธิษฐานยกพระกันไม่น้อยเลย นอกจากสิมและหอพระแล้ว วัดเชียงทองยังมีโรงเมี้ยนโกศ หรือโรงราชรถ ภายในเก็บราชรถที่เคยใช้ในการอัญเชิญพระโกศของพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์อีกด้วย บ้านเรือนหลวงพระบาง ส่วนประตูและหน้าต่างด้านนอกงดงามมีชีวิตชีวาไปด้วยลวดลายแกะสลักไม้สีทองที่วันนี้สีเริ่มหมองไปตามกาลเวลา งานแกะสลักไม้ที่นี่สร้างสรรค์โดยฝีมือของเพียตัน หรือ พระยาตัน หนึ่งในสุดยอดช่างของลาว ไม่ว่าจะเป็น ภาพสีดาลุยไฟที่พลิ้วไหวทรงพลังที่บานประตู ภาพทศกัณฑ์ฝันว่ากำลังเสพสังวาสกับสาวงามก่อนตายที่บานหน้าต่างบานแรก นับเป็นภาพงานสลักไม้ที่เมื่อใครได้ชมแล้ว จะรู้สึกเหมือนกับว่า ได้ดูชิ้นงานอันวิจิตรตระการตาที่ไม่ได้ใช้มือแกะปานนั้นเลยทีเดียว ชื่นชมน้ำตกแสนสวย อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายๆ ยังพอมีเวลาเหลือพอที่ 'กนก กนธี' สามารถเดินทางไปเที่ยวชมธรรมชาติของน้ำตกตาดแซ่ ซึ่งเป็นอะไรที่พลาดไม่ได้สุดๆสำหรับการมาเที่ยวหลวงพระบาง ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากตัวเมืองเพียง 13 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนค่าเข้าก็เพียง 8000 กีบ หรือประมาณ 20 กว่าบาท ด้วยน้ำตกแสนสวยแห่งนี้มีทั้งร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอย่างครบครัน โดยเวลาที่ดีที่สุดในการมาเยือนน้ำตกตาดแซ่ คือช่วงหลังฤดูฝน ทั้งนี้เป็นเพราะ ในช่วงหน้าร้อนหรือหน้าหนาว น้ำในบริเวณน้ำตกแห่งนี้จะแห้งจนบางที เหลือแต่พื้นที่โขดหินเปล่าๆไม่มีน้ำไหลแม้แต่น้อย ทำให้ไม่เห็นความสวยงามที่แท้จริงของน้ำตกดังกล่าวนั้นเอง น้ำตกตาดแซ่ สุดท้ายของสัปดาห์นี้ 'กนก กนธี' บอกได้แต่เพียงว่า ถ้าใครมีเวลารีบหาโอกาสบินลัดฟ้าไปเที่ยวหลวงพระบาง ไปเติมเต็มให้กับชีวิตสักครั้งหนึ่ง ส่วนสัปดาห์หน้าจะพาแฟนๆ คอลัมน์ สะพายกล้องท่องโลก ไปสัมผัสความงดงามในมุมใดของโลกนั้น คงต้องติดตามหาอ่านได้ที่นี่ที่เดียวในนิตยาสารสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ เท่านั้น