“มนัญญา” รับหนักใจในฐานะผู้บริหาร หลัง “สหรัฐฯ” จี้ ไทยแจงแบนสารพิษภาคการเกษตร ลั่น พร้อมแจงเชื่อทุกประเทศมีเหตุผลของตัวเอง เปิดช่องเจรจาเซลล์ขายยา ขณะ “วราวุธ” เผย หนังสือจากสหรัฐฯ เป็นเพียงของรองประธานหอการค้า ไม่ใช่หน่วยงานรัฐบาลที่จะแทรกแซงได้ วันที่ 25 ต.ค. น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์กรณีสถานทูตสหรัฐอเมริกา ส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยังไม่ได้กำชับอะไร ส่วนเจตนาของสหรัฐฯ ตนไม่ทราบว่าเขามีเหตุผลอะไร แต่จริงๆแล้วเรื่องสุขภาพ สารพิษตกค้างในผัก และผลไม้ เราก็ต้องดูแลไม่ให้คนไทยใช้บริโภคสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติ บางครั้งก็ต้องขอให้แยกส่วนกัน ยืนยัน หากสหรัฐฯถามมาเราก็พร้อมชี้แจง เพราะนานาประเทศที่แบนสารเหล่านี้ก็มีเหตุผลของแต่ละประเทศอยู่แล้ว ส่วนหนักใจหรือไม่เพราะว่าถูกกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ น.ส.มนัญญา ย้ำว่า การทำอะไรก็แล้วแต่ไม่มีอะไรที่ทำไปแล้ว เราจะไม่คิดไม่หนักใจเลย การที่เราเป็นผู้บริหารที่ต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งเกษตรกร และภาคเอกชน ไม่มีคำว่าแพ้หรือชนะ แต่เราจะต้องเดินไปด้วยกัน ด้วยการพูดคุย และสร้างความเข้าใจกัน “การขัดแย้งที่เกิดขึ้นไม่ใช่การขัดแย้งกับผู้บริโภค น่าจะเหมือนขัดแย้งกับเซลล์ขายยาแล้วในตอนนี้ แต่ก็ไม่รู้จะไปไกล่เกลี่ยหรือเจรจากับใคร เพราะได้ทำในเส้นทางของตัวเองอยู่แล้ว แต่ถ้าใคนต้องการที่จะพูดคุยด้วย ก็พร้อมเปิดห้องเจรจากัน” น.ส.มนัญญา กล่าว ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยอมรับว่า ได้เห็นสำเนาหนังสือที่ของทางสหรัฐอเมริกาที่ส่งตรงมาถึงนายกฯแล้ว ซึ่งเป็นในส่วนของหอการค้าสหรัฐฯ ที่เนื้อหาในหนังสือ ระบุถึงข้อห่วงใจต่อการนำเข้าสินค้าเกษตรที่อาจปนเปื้อนสารพิษ โดยหนังสือดังกล่าวมีผู้ลงนามเป็นรองประธานหอการค้าประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ซึ่งกรณีดังกล่าวตนมองว่าไม่ใช่เป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลที่จะเข้ามาแทรกแซง ตามที่มีประเด็นข่าวนำเสนอไปก่อนหน้านั้น ส่วนกังวลหรือไม่ว่าจะกลายเป็นปัญหาระหว่างประเทศ นายวราวุธ ย้ำว่า ไม่กังวลเพราะมีปัญหาอีกหลายอย่าง และเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นใหญ่ ส่วนกรณีดังกล่าวจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายหรือไม่นั้น นายวราวุธ กล่าวว่า ต้องรอการพิจารณาของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม ฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายอีกครั้ง แต่ในส่วนของหน่วยงานภายใต้กำกับของกระทรวงทรัพยากรฯ คือกรมควบคุมมลพิษ ยังยืนยัน ต่อการแบนสารพิษ เพราะต้องดูผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นอันดับแรก เมื่อเกิดสารตกค้างสะสมกับเกษตรกรไทย เราจึงแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งเชื่อว่าวิธีการใช้ของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ไม่รู้สึกหนักใจที่การกดดันทั้งภายใน และภายนอกประเทศ เพราะกระทรวงทรัพยากรฯ ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนเรื่องสารเคมีภาคการเกษตร ก็ต้องให้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจง แต่ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีสารทดแทนอยู่แล้ว