ถึง ณ ชั่วโมงนี้ เป็นที่ยอมรับกันว่า นอกจาก “สหรัฐอเมริกา” เจ้าของฉายา “พญาอินทรี” แล้ว ก็มี “พญามังกร” คือ “จีนแผ่นดินใหญ่” อีกประเทศหนึ่ง ที่มิว่าจะขยับเยื้องกายไปไหน คือ เคลื่อนไหวอะไร โลกทั้งใบก็จำต้องจับตามองอีกประเทศหนึ่ง ในฐานะชาติมหาอำนาจ ที่จ่อขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งของโลก แทนที่สหรัฐฯ ซึ่งนับวันมีแต่จะโรยราลงไปทุกขณะ ล่าสุด พญามังกร ภายใต้การนำของ “ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง” ผู้นำตลอดกาลแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ได้เคลื่อนกายยกพลพรรคมังกรน้อยใหญ่ไปภูมิภาคเอเชียใต้ เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน เริ่มจากการเดินทางเยือนอินเดีย แดนภารตะ เป็นปฐม ก่อนต่อด้วยการเดินทางมายังเนปาล ประเทศเชิงผาหิมพานต์ เทือกเขาหิมาลัย ซึ่งการมาถึง “กรุงกาฐมาณฑุ” เมืองหลวงของเนปาล ในจุดหมายปลายทางของการเดินทางประเทศที่สองของคณะประธานาธิบดีสี จิ้นผิง นี่เอง ที่ได้รับการจับตามองยิ่งกว่าที่คณะของพวกเขาไปอินเดียเป็นไหนๆ ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพียงจังหวะย่างก้าวย่ำเดินในถิ่นชมพูทวีปตามมารยาทธรรมดาเท่านั้น แตกต่างจากเนปาล ที่ทางการปักกิ่งมีวาระหมุดหมายหลายประการ หลักใหญ่ใจความตามทรรศนะที่เหล่านักวิเคราะห์แสดงไว้ ก็คือ การขยายอิทธิพลของพญามังกรเข้าสู่ภูมิภาคแห่งนี้ ด้วยมาตรการนโยบายการต่างประเทศต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยเงินกู้ และหว่านเม็ดเงินลงทุน รวมถึงการผุดสารพัดโครงการความร่วมมือ โดยระหว่างการเดินทางเยือนเนปาล ซึ่งแม้มีระยะเวลาเพียง 2 วัน แต่ปรากฏว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง สามารถจรดปากกาลงนามกับทางการกาฐมาณฑุได้ถึง 20 ข้อตกลงด้วยกัน นอกเหนือจากพบปะกับประธานาธิบดีพิทยา เทวี ภันทารี และนายกรัฐมนตรี เค. พี. ชาร์มา โอลี ของเนปาลแล้ว ท่ามกลางบรรยากาศการต้อนรับที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ประธานาธิบดีพิทยา เทวี ภันทารี ผู้นำหญิงแห่งเนปาล ต้อนรับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน ทันทีที่เดินทางมาถึงตรีภูวัน ท่าอากาศยานนานาชาติ กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล (เอเอฟพี) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน จับมือทักทายกับนายเค. พี. ชาร์มา โอลี นายกรัฐมนตรีเนปาล ก่อนที่จะลงนามทำข้อตกลง (เอเอฟพี) ทั้งนี้ ในบรรดาข้อตกลงทั้ง 20 ฉบับ ที่ผู้นำของทั้งสองฝ่ายได้ลงนามไปข้างต้น ก็ได้แก่ การสนับสนุนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น การส่งเสริมทางด้านการค้า ความช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแน่นอนว่า ทางพญามังกรจีนแผ่นดินใหญ่ ย่อมเป็นฝ่าย “ผู้ให้” ขณะที่ ทางเนปาลเป็น “ผู้รับ” ความช่วยเหลือ การกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงทางการทหาร พร้อมกันนี้ ทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และเนปาล ยังตกลงที่จะยกระดับ อัพเกรด ความผูกพันในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของสองประเทศระหว่างกันด้วย รายละเอียดของข้อตกลงที่บ่งชี้ถึงการรุกคืบขยายอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่เข้าไปในเนปาลหนนี้ ก็ได้แก่ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากกรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของเนปาล เชื่อมต่อกับย่านกยิรอง เขตปกครองตนเองทิเบต ของจีนแผ่นดินใหญ่ คิดเป็นระยะทาง 70 กิโลเมตร ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟข้างต้น ก็จะเชื่อมต่อกับโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน ไปยังนครลาซา เมืองเอกของเขตปกครองตนเองทิเบต ตามแผนการที่รัฐบาลปักกิ่งได้วางเอาไว้ โครงการก่อสร้างเพื่อพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในเนปาล โครงการก่อสร้างถนนอุโมงค์จากกรุงกาฐมาณฑุของเนปาล เข้าไปในเขตชายแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงโครงการปรับปรุงถนนสายต่างๆ ที่เป็นเส้นทางสัญจรไป – มา ระหว่างเนปาลกับจีนแผ่นดินใหญ่อีกหลายสาย นอกจากนี้ ข้อตกลงทั้ง 20 ฉบับ ยังเน้นย้ำถึงคำมั่นของทางการจีนที่เอ่ยปากอนุญาตต่อเนปาลเมื่อปีที่ผ่านมา ถึงการเปิดไฟเขียว ให้เนปาล สามารถใช้ท่าเรือต่างๆ ของจีนแผ่นดินใหญ่ เรียกว่า ถึงเนปาลจะไม่มีทางออกสู่ทะเล แต่ก็ไม่ต้องวิตก เพราะไปสามารถท่าเรือของจีนแผ่นดินใหญ่ ตามเมืองท่าริมฝั่งทางทะเลต่างๆ ได้ อาทิ เทียนจิน เสิ่นเจิ้น เหลียนหยุนกัง ซานเจียง เป็นต้น ใช่แต่เท่านั้น ทางการปักกิ่ง ยังอนุญาตให้เนปาล ใช้ “ท่าเรือบก” หรือ “ดรายพอร์ต (Dry port)” ที่จีนแผ่นดินใหญ่มีอยู่ด้วยกันแห่ง เพราะมีอาณาเขตกว้างขวาง ได้แก่ เมืองหลานโจว ลาซา และซือกาเซ ในทิเบต ภายหลังจากจรดปากกาลงนามเสร็จสิ้น ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่ ก็ให้คำมั่นต่อคณะผู้นำของเนปาลว่า จะช่วยให้ฝันของเนปาลที่ต้องการให้ประเทศของตน ซึ่งมีสภาพเป็น “แลนด์ล็อก” ไม่มีทางออกสู่ทะเล เป็น “แลนด์ลิงก์” คือ เป็นดินแดนเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ เป็นจริงให้จงได้ อย่างไรก็ตาม บรรดานักวิเคราะห์ได้แสดงทรรศนะว่า มิใช่แต่เนปาลที่ฝันเป็นจริงได้ฝ่ายเดียวหรอก แต่จีนแผ่นดินใหญ่ ก็ฝันเป็นจริง ที่สามารถขยายอิทธิพลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียใต้ ได้เช่นกัน ท่ามกลางความหวั่นวิตกว่า ประเทศเล็กๆ แห่งเทือกเขาหิมาลัยแห่งนี้ จะเข้าสู่วังวนแห่ง “การทูตกับดักหนี้” เหมือนที่หลายๆ ประเทศประสบ