พสกนิกรชาวไทยเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพ่อของแผ่นดินและเทิดทูนสมเด็จพระนางฯ พระบรมราชนีนาถทรงเป็นแม่ของแผ่นดินเช่นกัน ยามเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ แห่งหนใด ก็จะเห็นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ ไปด้วยทุกครั้งและได้ทรงศึกษาลักษณะสภาพท้องถิ่นต่างๆ ที่เสด็จฯไปเยี่ยมเยียน ทำให้ทรงรู้จักพื้นถิ่นไทยวิถีชีวิต ศึกษาความเป็นอยู่คนไทยทั้งประเทศเป็นอย่างดี ภาคใดมีอาชีพอะไร มีทุกข์สุขอย่างไรบ้าง ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณแล้วพระราชทานพระราชดำริริเริ่มโครงการหลากหลาย อันก่อให้เกิดการแก้ปัญหาความเป็นอยู่ การดำเนินชีวิตที่ก่อประโยชน์สุขให้แก่ราษฎรเหล่านั้น โดยเฉพาะแก่เหล่าเกษตรกรผู้ยากไร้และเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศไทย ณ เวลาเดียวกันยังทรงศึกษาสภาพพื้นที่ป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติเช่นแหล่งน้ำสัตว์ป่า ดินที่ได้รับผลกระทบจากการบุกรุกทำลายอันส่งผลในการดำรงชีวิตของคนด้วย ทั้งนี้ด้วยทรงตั้งพระราชหฤทัยเพื่อทำการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกทางหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถพระราชทานพระราชดำริต่างๆ นานาเพื่อเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ทุกหมู่เหล่า ทั้งด้านการสร้างงาน สร้างอาชีพผ่านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติการสร้างป่าไม้ ด้วยโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนวนเวียนอยู่ในชีวิตประจำวันของคนทุกคน ด้วยเพราะทรงมีพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลอันก่อประโยชน์ในการดำรงชีพของราษฎร ทำให้พระองค์พระราชทานโครงการพระราชดำริต่างๆ ให้แก่ราษฎร เช่น ศูนย์ศิลปาชีพ ที่ทรงเน้นการสร้างอาชีพเสริมให้แก่เกษตรกรชาวไร่ ชาวนา ช่วงว่างจากการทำเกษตรกรรม เพิ่มพูนรายได้แก่ครอบครัว บางรายมีรายได้เพิ่มจากงานศิลปาชีพมากจนตั้งตัวได้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถมิเพียงแต่ทรงส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ราษฎรเท่านั้น หากแต่ทรงให้ความสนพระราชฤทัยในเรื่องของป่าไม้ทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปด้วยเพราะว่า ป่าเป็นแหล่งสร้างความอุดมสมบูรณ์ สร้างอาหาร สร้างอาชีพให้แก่ผู้คนใกล้เคียง ทรงเน้นย้ำในการอนุรักษ์ป่าเพราะป่าเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงทุกชีวิต จึงทรงตั้งพระราชหฤทัยให้คนกับป่าอยู่ร่วมกัน พึ่งพาอาศัยกัน ในทุกๆ โครงการที่พระองค์ท่านทรงทำนั้นทรงเน้นสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชาวบ้านในพื้นที่ฟื้นฟู ป่าทั้งสิ้น พระองค์จะทรงโปรดเกล้าฯ ให้จ้างชาวบ้านในท้องถิ่นนั้นๆ เป็นคนช่วยดูแลแล้วพระราชทานเงินให้เป็นประจำทุกเดือนเพื่อเป็นค่าตอบแทน ทั้งนี้ผืนป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติเป็นของคนไทยทุกคนมิได้เป็นของผู้ใดผู้หนึ่ง ภาพที่เห็นพระองค์ทรงทำเช่นนี้แล้วทำให้นึกถึง ความตอนหนึ่งแห่งพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถที่ว่า "...อย่ามาพูดเรื่องกำไรขาดทุนกับฉันนะ ฉันต้องการให้คนจนมีงานทำมากๆ ขาดทุนของฉันคือกำไรของแผ่นดิน เพราะการที่ทำให้คนยากจนในชุมชนนั้นๆ มีงานทำ พวกเขามีรายได้ มีเงินเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องไปเป็นโจร ไม่ต้องไปเป็นขโมย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ตัดไม้ทำลายป่า ไม่ไปเผาป่า ตำบลนั้น อำเภอนั้น จังหวัดนั้น สิ่งนั้นก็คือกำไรของแผ่นดิน..." โครงการต่างๆ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานไว้เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและชาติบ้านเมือง เช่น โครงการศูนย์ศิลปาชีพ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ โครงการฟาร์มตัวอย่าง สถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ หรือโครงการป่ารักน้ำ เป็นต้น ศูนย์ศิลปาชีพฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงริเริ่มโครงการหัตถกรรมเพื่อช่วยเหลือราษฎรเป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๐๘ เนื่องจากได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรหมู๋บ้านเขาเต่า ทรงพบว่า นอกจากความยากจนอย่างยิ่งของราษฎรแล้ว หมู่บ้านแห่งนี้ยังมีพื้นที่แห้งแล้งมาก ขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้กรมชลประทานจัดสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่เขาเต่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงแนะนำชักชวนให้หญิงชาวบ้านเขาเต่า หัดทอผ้าฝ้ายขายเพื่อเป็นอาชีพเสริม กับอาชีพหลัก คือ การประมงของฝ่ายชาย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลโท หม่อมเจ้าประเสริฐศรี ชยางกูร ราชองครักษ์ เป็นผู้ควบคุมโครงการ มีพระราชเสาวนีย์ให้ไปขอครูทอผ้าจากโรงงานทอผ้าบ้านไร่ จังหวัดราชบุรี มาสอนการทอผ้าแก่ราษฎรบ้านเขาเต่า พร้อมทั้งให้สร้างกี่ทอผ้าขึ้นที่ท้ายวังไกลกังวล ทุกๆ วัน จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งรถไปรับชาวบ้านมาหัดทอผ้า โดยเริ่มจากทอผ้าขาวม้า และผ้าซิ่นเป็นส่วนใหญ่ พระราชทานทั้งอาหารกลางวันและค่าแรงแก่ผู้ทอ ผู้ที่มีลูกเล็กๆ ก็ให้นำลูกมาด้วย และโปรกเกล้าฯ ให้นางสนองพระโอษฐ์ช่วยกันดูแลเด็ก ถึงเวลาเย็นก็จักส่งชาวบ้านกลับบ้าน กิจการทอผ้าท้ายวังดำเนินไปเช่นนี้จนถึงเวลาเสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร จึงจำต้องย้ายกิจการไปอยู่ที่ใต้ถุนศาลาวัดเขาเต่า โดยมีเจ้าอาวาสวัดเขาเต่า และครูใหญ่โรงเรียนบ้านเขาเต่า ช่วยดูแลต่อ โดยมีศูนย์ศิลปาชีพฯ และสมาชิกกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ ประกอบกับผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพเป็นที่นิยมกันเป็นอย่างยิ่ง และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ต้องทรงใช้จ่ายพะราชทรัพย์เพื่อโครงการนี้ตลอดมา และได้มีผู้มีจิตศรัทธาถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลเพื่อการนี้เป็นจำนวนมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๑๙ ด้วยเงินทุนจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ รวมกับส่วนที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เดิมทีโครงการศิลปาชีพนี้ เรียกว่า โครงการศิลปาชีพพิเศษ แต่ต่อมาทรงเห็นว่า ชื่อยืดยาวเกินไปจึงทรงอยากจะตัดออกให้ชื่อกระชับเข้า จึงเหลือแต่เพียงคำว่า “ ศิลปาชีพ ” สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ต่อมา เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๑ คณะกรรมการบริหารของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ พิจารณาเห็นว่าสมาชิกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ได้ยึดศิลปาชีพเป็นอาชีพหลักกันในจำนวนมากมิได้เป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น อีกประการหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงบริหารกิจการของมูลนิธิด้วยพระองค์เองตลอดมา ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญา ด้วยพระอุตสาหะ วิริยะ เพื่อมูลนิธิฯ หาใช่เป็นเพียงการพระราชทานพระบรมราชินูปถัมภ์เท่านั้น คณะกรรมการบริหารเห็นว่า เมื่อจะแก้ไขเรื่องชื่อ โดยเอาคำว่าพิเศษออกแล้ว ก็ควรขอพระราชทานพระราชานุญาต เปลี่ยนคำว่า “ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ” เป็น “ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ” ด้วย เพื่อให้ตรงกันกับความเป็นจริง พร้อมทั้งจัดทำตราสารขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องแก่การดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในขณะนั้น โดยมีศูนย์ศิลปาชีพทั้งหมด ๙ แห่งทั่วประเทศ ๑. ศูนย์ศิลปาชีพ สวนจิตรลดา จังหวัดกรุงเทพมหานคร ๒. ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๓. ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม จังหวัดสกลนคร ๔. ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านแม่ต๋ำ จังหวัดลำปาง ๕. ศูนย์ศิลปาชีพ ทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ๖. ศูนย์ศิลปาชีพ แม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๗. ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านวัดจันทร์ จังหวัดเชียงใหม่ ๘. ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านจาร จังหวัดสกลนคร และศูนย์ที่ ๙. ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านทรายทอง จังหวัดสกลนคร นอกจากนี้ยังมีโครงการและกลุ่มศิลปาชีพอีกเป็นจำนวนร้อยกว่าโครงการกระจายกันอยู่ทั่วประเทศอีกด้วย อาทิ เช่น ๑. โครงการศิลปาชีพป่านศรนารายณ์ บ้านหุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี ๒. โครงการศิลปาชีพตุ๊กตาชาววัง วัดท่าสุทธาวาส จังหวัดอ่างทอง ๓. โครงการศิลปาชีพทอผ้าตามพระราชประสงค์ หมู่บ้านบางเสด็จ จังหวัดอ่างทอง ๔. โครงการศิลปาชีพทอผ้าฝ้าย วัดน้ำเต้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ๕. โครงการศิลปาชีพทอผ้าไหมแพรวาตามพระราชดำริ บ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ ๖. โครงการศิลปาชีพในสถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ๗. โครงการศิลปาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม บ้านห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ๘. กลุ่มทอผ้าบ้านหลวง จังหวัดเชียงใหม่ ๙. กลุ่มทอผ้าไหม อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว ๑๐. กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าซิ่นตีนจกและการย้อมด้ายสี บ้านนามล จังหวัดแพร่ ๑๑. กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าฝ้ายและปักผ้า บ้านแม่ตะไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ๑๒. ศาลารวมใจ บ้านกาด จังหวัดชลบุรี เป็นต้น