แฉ!! ฝ่ายต้านแบน 3 สารพิษ ปั่นกระแสสังคม ปล่อยข่าวมีนักการเมืองนำเข้ากลูโฟซิเนตเพื่อเก็งกำไร ชี้เป็นฝีมืออีกกลุ่มการเมือง อยู่ขั้วเจ้าใหญ่นำเข้าสาร นั่งในคก.วัตถุอันตราย เสียประโยชน์มหาศาลกว่า2แสนล้านบาทต่อปี ต้องจับตายังยื้อใช้พาราควอต-ไกลโฟเซต วันที่18 ต.ค. นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิไบโอไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ว่า มีนักการเมืองต้องการแบน สารพาราควอต และไกลโฟเส เพื่อนำเข้าสาร “กลูโฟซิเนตแอมโมเนียม” ซึ่งเป็นสารเคมีควบคุมวัชพืชอีกชนิดมาแทนเพื่อเก็งกำไรนั้น จากการตรวจสอบสต็อกล่าสุดของสารกลูโฟซิเนตที่มีการนำเข้ายังน้อยกว่าไกลโฟเซตประมาณ 10 เท่า หากมีการแบนสารไกลโฟเซตและพาราควอต จริง คาดว่า จะมีหลายบริษัทที่ขอนำเข้าทั้งจากจีนและมาเลเซียซึ่งจะส่งผลให้ราคาจะลดต่ำอย่างรวดเร็ว โดยผู้บริหารหน่วยงานระดับสถาบันในกรมวิชาการเกษตร ได้ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎว่า ราคาของสารกลูโฟซิเนตซึ่งนำมาใช้ทดแทนนั้นจะลดต่ำเหลือเพียง 150 บาทต่อลิตรซึ่งต่ำกว่าพาราควอต ด้วยที่ขณะนี้อยู่ที่ 170-180 บาทต่อลิตร นายวิฑูรย์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาถึงการเก็งกำไรของบริษัทสารเคมีกำจัดทางการเกษตรนั้น จากสถิติที่เห็นได้ชัดเจนว่า เป็นการนำเข้าพาราควอตเพื่อกักตุนในปี 2560 หลังกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้มีการแบนสารดังกล่าว โดยการนำเข้ากระโดดสูงเพิ่มขึ้นจาก 31,525,596 กิโลกรัม เป็น 44,501,340 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นกว่า 41% และคลอร์ไพริฟอส เพิ่มขึ้นจาก 2,071,128 เป็น 3,324,806 กิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 61% จึงเห็นว่า การปั้นข่าวนักการเมืองเก็งกำไร สารกลูโฟซิเนตเป็นการพยายามปั่นกระแสเพื่อสร้างความชอบธรรมจากกลุ่มการเมืองอีกกลุ่มในการต่อต้านการแบนพาราควอตและไกลโฟเซต ทั้งนี้มูลนิธิไบโอไทยไม่เห็นด้วยต่อแนวทางการแบนสารพิษ 2 ชนิดและนำเข้าสารพิษอีกตัวเพิ่มขึ้น แต่ควรเสนอทางเลือกในการควบคุมจำกัดวัชพืชโดยใช้ เครื่องกลเครื่องจักรกล พืชคลุมดิน และการจัดระบบการปลูกพืชแทน “ธุรกิจสารเคมีวัตถุอันตรายมีผลประโยชน์มหาศาล แต่ละปีมีการนำเข้าหลายหมื่นล้านบาท ในปี 61 มีการนำเข้า 36,000 ล้านบาท เมื่อคิดเป็นมูลค่าการตลาดจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว และเป็นการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส มูลค่าเกือบ 20,000 ล้านบาท และเป็นการนำเข้าโดยเอกชนรายใหญ่ ขณะที่โครงสร้างกฎหมายไทยเอื้ออำนวย เนื่องจากมีกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งแตกต่างจากในนต่างประเทศหน่วยงานที่เป็นผู้เสนอให้มีการยกเลิกการใช้สารเคมีอันตราย ซึ่งยกเลิกไปแล้วกว่า 50 ประเทศ เป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลโดยตรงถึงผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ในประเทศไทยกลับไม่เป็นอย่างนั้น ส่งผลให้ไทย ยกเลิกใช้สารเคมีทำได้ยากมาก โดยเฉพาะเอกชนที่นำเข้าสารเคมีเหล่านี้ได้รับการยกเว้นทั้งภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียรวมกว่า 10,000 ล้านบาท/ปี ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร และบริษัทกลับส่งออกไปขายต่างประเทศ ผลประโยชน์จึงไม่ตกที่เกษตรกร แต่ไปอยู่ที่เจ้าของบริษัท “นายวิฑูรย์ กล่าว