นางบานเย็น องอาจ ผู้ใหญ่บ้านดงเรือง ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี บอกว่า ในชุมชนมี 171 ครัวเรือนประชากร 881 คน ส่วนใหญ่อาชีพเกษตรกรรม ทุกคนทำนา บางส่วนทั้งทำนาและทำพืชสวน มีเลี้ยงวัวเลี้ยงควายบ้าง ปัจจุบันมีการปลูกพืชประเภทผักสวนครัวมากขึ้นหลังจากที่มีโครงการชีววิถีเข้ามาในหมู่บ้าน แต่ก่อนนั้นทุกคนจะทำการเกษตรแบบใช้สารเคมี เพราะถ้าไม่ใช้พืชก็จะไม่สมบูรณ์ผลผลิตที่ได้รับจะน้อย แต่นานเข้าดินเริ่มมีปัญหาเกิดอาการกระด้าง จึงต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นด้วย ทุกคนก็คิดกันว่าต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้สามารถลดต้นทุนให้ได้ “ก็พอดีได้ดูจากทีวีเห็นโครงการชีววิถีพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของ กฟผ. ก็คิดกันว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้โครงการนี้เข้ามาในหมู่บ้าน ในตอนแรกก็ทำแบบของโครงการที่เห็นในทีวี แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่เข้าใจในวิธีการที่ถูกต้อง จึงไปดูงานที่วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน ต.หนองหาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พบว่าพืชผักเจริญเติบโตดีมีความสมบูรณ์ มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และปลูกผักแบบครอบวงจร”นางบานเย็น กล่าว นางบานเย็น เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า จากนั้นก็รวมกลุ่มราษฏรเข้าไปเรียนรู้วิธีการต่างๆ ตั้งแต่การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ถูกต้องเพื่อนำมาปรับปรุงดิน วิธีการขุดหลุมปลูก การรองก้นหลุมปลูกก่อนปลูกพืช ไปจนถึงการเพาะเมล็ดพันธุ์พืชอย่างถูกวิธี การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่ใช้วัสดุที่มีอยู่เช่น มูลวัว มูลควาย ใบไม้มาหมักกองรวมกันแล้วใส่ EM ลงไป ไม่นานพืชผักที่ปลูกก็เจริญงอกงามดี ส่วนปลาที่เลี้ยงก็โตดีเพราะเอาพืชผักที่มีอยู่มาให้เป็นอาหารใช้น้ำ EM ใส่ลงบ่อเพื่อปรับสภาพน้ำและทำให้น้ำไม่เน่าเสีย ในขณะที่ต้นทุนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นเพราะเอาวัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้เป็นประโยชน์ “หลายคนในหมู่บ้านมาดูแล้วนำไปทำเองที่บ้านจนเดียวนี้ทุกครัวเรือนทำอย่างนี้หมด โดยหลังจากที่มีการจัดตั้งแปลงสาธิตฯ ขึ้นแล้วก็ประกาศให้คนในหมู่บ้านรับทราบและแจ้งข่าวไปว่าหากผู้ใดสนใจที่จะเข้ามาศึกษาเรียนรู้ก็สามารถเข้ามาได้ซึ่งมีหลายกิจกรรม นับตั้งแต่ ด้านประมง ด้านปศุสัตว์ ด้านการเพาะปลูกพืช ทั้งแบบประจำฤดูกาลและพืชยืนต้นให้ผลทั่วไปที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่สำคัญมีการสาธิตวิธีการเพาะปลูกและการทำการเกษตรโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย และทุกคนที่เข้ามาเรียนรู้ทางศูนย์จะมอบปัจจัยพื้นฐานในการทำการผลิตให้เช่นผ้าพลาสติดสำหรับปูบ่อเลี้ยงปลาและให้พันธุ์ปลาหรือกบไปเลี้ยง คนละ 100 ตัว พร้อม้ำ EM จากนั้นเมื่อเลี้ยงแล้วก็ให้แต่ละคนทำการผลิตทั้งพันธุ์ปลาและน้ำ EM กันเองตามที่มาเรียนรู้จากศูนย์สาธิตฯ ส่วนด้านปศุสัตว์เพื่อการขยายผลอย่างยั่งยืนก็จะมีข้อตกลงกับผู้ที่จะเลี้ยงว่า ในขั้นต้นทางศูนย์กำหนดว่าลูกสัตว์ให้ไปเลี้ยง เมื่อเลี้ยงโตจนจำหน่ายได้แล้วก็ต้องคืนเงินต้นทุนมาให้กับทางศูนย์เพื่อศูนย์จะได้นำเงินนั้นไปเป็นกองทุนขยายผลให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ ได้เลี้ยงกันต่อไป ส่วนกำไรผู้เลี้ยงก็รับไป”นางบานเย็น กล่าว และล่าสุดทางโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดกิจกรรม "ชีววิถี อยู่ดี มีสุข" เป็นครั้งที่ 2/2562 ขึ้น ณ วิทยาลัยการอาชีพหนองหาน ต.หนองหาน อ.หนองหาน จ.อุดรธานี เมื่อวันก่อน โดยมีตัวแทนจากชุมชนเกษตรกรรม "บ้านหนองตอ" หมู่ที่ 5 ตำบลเชียงยืน พร้อมด้วย Blogger จากเพจชื่อดัง เช่น ตากล้อง ท่องเที่ยว ลาพักเที่ยว ท่องเที่ยวไฉไล และสื่อท้องถิ่น เช่น Udon Daily ไลฟ์สด Udon Next Step ข่าวทั่วไทย และ เพจสมัชชาสุขภาพจังหวัดอุดรธานี Cable TV จ.อุดรธานี ตลอดจนทูตสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิตปริญญาโทคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เข้าร่วมกิจกรรม นายสหชาติ พิลาออน ในการนี้ คณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมเยือน และเรียนรู้ ชุมชนต้นแบบชีววิถี กฟผ. ณ “ชุมชนบ้านดงเรือง” หมู่ที่ 6 ตำบลหนองเม็ก อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้นำองค์ความรู้ ใน “โครงการชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากวิทยาลัยการอาชีพหนองหานมาดำเนินการในการวางแนวทางการพัฒนาชุมชนชีววิถีฯ อย่างเป็นระบบ ตามหลักบันได 3 ขั้น อันได้แก่ ขั้นอยู่รอด ขั้นพอเพียง และขั้นยั่งยืน กระทั่งประสบผลสำเร็จ สะท้อนให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความมั่นคง และยั่งยืนในอาชีพเกษตรกรรม มีความเข้มแข็งในฐานะวิสาหกิจชุมชนบ้านดงเรือง และที่สำคัญสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการพัฒนาด้านการตลาดสู่การค้าระบบออนไลน์ อีกด้วย สำหรับกิจกรรม “ชีววิถี อยู่ดี มีสุข” ที่จัดขึ้นในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เข้าใจ เกิดแรงบันดาลใจในการลงมือทำและนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา สืบไป