จากกรณีชาวบ้านโคกศรี ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ รวมตัวกันร้องทุกข์กับศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ หลังกำลังได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก เนื่องจากมีโรงงงานแป้งมันในพื้นที่ ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยกุดแข้-หนองบึงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะธรรมชาติและเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำยัง ส่งผลให้น้ำระบบนิเวศเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซ้ำยังทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่น้ำตาย รวมถึงต้นข้าวของเกษตรกรล้มตายจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวถูกปล่อยเรื้อรังมาหลายปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้ปัจจุบันส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชน เนื่องจากมีชาวบ้านล้มป่วย เป็นโรคทางเดินหายใจ และผิวหนังหลายราย กระทั่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบพบโรงงานมีการต่อท่อปล่อยน้ำเสียลงสู่หนองน้ำสาธารณะจริง ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านใน ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าไปตรวจสอบสภาพน้ำ ในลำห้วยกุดแข้ พร้อมกับถ่ายคลิปวีดีโอไว้เป็นหลักฐาน หลังพบว่าสภาพน้ำมีสีขุ่น เน่าเสีย และมีคราบของแป้งมันเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าทางโรงงานยังคงปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยกุดแข้อย่างต่อเนื่อง แม้จะมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม เจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาตรวจสอบก็ตาม ซึ่งชาวบ้านต่างระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเย้ยกฎหมายและไม่สนใจหน่วยงานของราชการ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำซากมากว่า 10 ปีแล้วแต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จนส่งกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนหลายหมู่บ้าน ทั้งด้านสุขภาพ และพืชผลการเกษตร นายอนุชา แสงโคตร อายุ 43 ปี ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า สำหรับปัญหาการปล่อยน้ำเสียของโรงงานแป้งมันนั้นเกิดขึ้นซ้ำซากทุกๆปี ทำให้ปัจจุบันนอกจากจะส่งผลต่อสภาพน้ำและระบบนิเวศในลำห้วยสาธารณะกุดแข้ที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตของประชาชนหลายพันครัวเรือนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะด้านสุขภาพของประชาชนอีกด้วย นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงพืชผลการเกษตรของชาวบ้านล้มตายเป็นจำนวนมากอีกด้วย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นมามากว่า 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานอุตสาหกรรม ที่ยังปล่อยให้ทางโรงงานปล่อยน้ำเสียอยู่อีก ซึ่งหากมีปัญหาทางโรงงานก็นำเงินเล็กๆน้อยๆมาเยียวยา จากนั้นก็เงียบหายไป และต่อมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยากเรียกร้องให้หน่วยงานอุตสาหกรรม เร่งดำเนินการแจ้งทางโรงงานปรับปรุงแก้ไข ไม่ให้ปล่อยน้ำเสียลงมาอีก เพื่อให้อยู่กับชุมชนได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ให้หยุดกิจการหรือปิดโรงงานไปเลย ด้านนายสงวนศักดิ์ โคตรพัฒน์ นายกเทศมนตรีตำบลคำบง กล่าวว่า ปัญหาการปล่อยน้ำเสียทำให้ลำห้วยเน่าเสีย ปลาและต้นข้าวของชาวบ้านตายนั้นเกิดขึ้นซ้ำซากมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับปรับปรุงแก้ไขจากทางโรงงาน อีกทั้งชาวบ้านยังไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดูแลรับผิดชอบโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้เกิดส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ และความเป็นอยู่ของประชาชนหลายร้อยครัวเรือน จึงอยากให้ผู้รับผิดชอบเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านด้วย เพราะหากปล่อยไว้จะยิ่งเดือดร้อนมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามขณะที่ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำในลำห้วยกุดแข้บริเวณที่เกิดเหตุปลาตายเป็นจำนวนมาก เบื้องต้นพบว่า สภาพน้ำมีสีน้ำตาลอมดำ มีคราบมัน ส่งกลิ่นเหม็น ผิดธรรมชาติ และจากการตรวจวัดปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำมีค่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานอย่างมากถึง 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งปกติค่ามาตรฐานที่สิ่งมีชีวิตสามารถอยู่ต่อจะต้องไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งถือว่าคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม กระทบต่อการใช้ประโยชน์ในการอุปโภค บริโภค และเสี่ยงเกิดอันตรายต่อชีวิตของประชาชน นอกจากนี้เมื่อเข้าตรวจสอบโรงงาน เพื่อรับทราบข้อมูลการเดินระบบบำบัดน้ำเสียในรายงาน แบบ ทส.2 ตาม มาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาการคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 พบว่า โรงงานได้บันทึกข้อมูลการเดินระบบบำบัดน้ำเสีย 3 เดือนย้อนหลัง ก.ค. ส.ค.และก.ย.2562 พบว่ามีการระบายน้ำเสียจากระบบบำบัดน้ำเสียทุกวัน และเมื่อตรวจสอบรายงานผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งบ่อสุดท้าย 3 เดือนย้อนหลัง ก.ค.-ก.ย.2562 ซึ่งวิเคราะห์โดยบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัดสาขาขอนแก่น พบว่ามีค่าปริมาณความสกปรก หรือ BOD คือ 45 มิลลิกรัมต่อลิตร, 23 มิลลิกรัมต่อลิตรและ35 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเป็นค่าที่เกินมาตรฐานตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบอุตสาหกรรม ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 โดยตามมาตรฐานดังกล่าวค่า BOD ต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ยังมีค่าความสกปรกในรูปแบบค่าสารพิษหรือ COD เกินมาตรฐานตามประกาศดังกล่าวอีกด้วย ซึ่งค่า BOD.ต้องไม่เกิน 20 มิลลิกรัมต่อลิตร ขณะที่นายศักดิ์สิทธิ์ สิงห์สุนิตย์ อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวจะต้องดูผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานก่อน ว่ามีการบำบัดผ่านเกณฑ์ก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำหรือไม่ แต่ขณะนี้ได้แจ้งโรงงานปรับปรุงแก้ไขแล้ว