เมื่อวันที่ 18 ต.ค.62 ตามนโยบาย พล.ต.ท.อัมพล บัวรับพร ผบช.ภ.1 เกี่ยวกับการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดภายในชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสพ พล.ต.ต.ระพีพงษ์ สุขไพบูลย์ ผบก.ภ.จ.ชัยนาท จึงได้สั่งการให้สถานีตำรวจในพื้นที่ดำเนินการสนองนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง พ.ต.อ. ธีระชัย เด็ดขาด ผกก.สภ.หางน้ำสาคร จ.ชัยนาท และ นายเสา พุทธโกสัย ประธาน กต.ตร.สภ.หางน้ำสาคร พร้อมคณะ กต.ตร.สภ.หางน้ำสาคร ได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติดพบว่า สภ.หางน้ำสาคร เฉพาะกลุ่มผู้เสพในปี 2562 สภ.หางน้ำสาคร มีผลการจับกุมได้ 82 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 จับกุมได้จำนวน 36 ราย เพิ่มขึ้น 46 ราย คิดเป็น 121.8% เปรียบเทียบกับปี 2561 จับกุมจำนวน 56 ราย เพิ่มขึ้น 26 ราย คิดเป็น 46% สถานการณ์ยาเสพติดในพื้นที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และพิจารณาแล้วเห็นว่าในพื้นที่ สภ.หางน้ำสาคร มีวิสาหกิจชุมชนหลากหลาย จึงมีแนวคิดการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดโดยใช้วิธีชุมชนบำบัดขึ้น โดยมีกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงเป็นกลไกในพื้นที่สถานีตำรวจหลังเก่า ในการดึงผู้เสพออกจากสภาพแวดล้อม กลุ่มเพื่อน ที่ล่อแหลม ในการเข้าไปพัวพันยาเสพติดอีก พร้อมจัดกิจกรรมโดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง บูรณาการทำงานร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้เสพให้กลับมาเป็นคนดีของสังคม ใน “วันตำรวจ” สภ.หางน้ำสาคร จึงได้ทำพิธีเปิด “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สภ.หางน้ำสาคร” ที่สถานีตำรวจภูธรหางน้ำสาคร(หลังเก่า) ซึ่งมีสถานีในการฝึกอาชีพโดยมีสถานี 1. สถานีโรงเป็ดไข่ เป็นสถานที่เพาะเลี้ยงเป็ดไข่ 2. สถานีเลี้ยงปลาดุก เป็นสถานที่เลี้ยงปลาดุกในวงบ่อซีเมนต์ 3. สถานีเลี้ยงกบ เป็นการเลี้ยงกบในพื้นที่ปิด 4. สถานีเพาะเห็ด เป็นการเพาะเห็ดในวงบ่อซีเมนต์ ใช้ทุนไม่มาก 5. สถานีแปลงเกษตร เป็นสถานีปลูกพืชผักสวนครัว เช่น ผักบุ้ง มะเขือ ถั่วฝักยาว ฯลฯ ซึ่งการดำเนินการจะมีปราชญ์ชาวบ้านแต่ละอาชีพมาเป็นวิทยากรให้ความรู้กับกลุ่มเสี่ยงที่มาเข้าร่วมกิจกรรมในศูนย์เรียนรู้ และทำหน้าที่ต้องดูแลสัตว์เลี้ยง และพืชผักสวนครัว เช่น การให้อาหารสำหรับสัตว์ เพื่อให้ได้ผลิตผลที่มีคุณภาพและคุ้มค่า การใส่ปุ๋ยบำรุงดินเพื่อให้ผลผลิดอกออกผลตามที่ต้องการ อันเป็นการเพิ่มทักษะอาชีพแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรม และเป็นอาชีพในอนาคต อีกทั้งจะมีการปรับทัศนคติ บุคลิกภาพ ในการเป็นคนดี คนเก่ง ของสังคมต่อไป อีกทั้ง ศูนย์เรียนรู้ เป็นกิจกรรมที่เป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ให้แก่ข้าราชการตำรวจและครอบครัว โดยได้มีการนำผลผลิตจากศูนย์เรียนรู้มาปรุงเป็นอาหาร และจำหน่ายให้กับชุมชนในราคาถูกกว่าท้องตลาด