"ปิยบุตร" เผย 70 เสียงยกมือตามมติ เป็นการประกาศจุดยืนพรรคอนาคตใหม่ ไม่บอกชื่อ ส.ส. เสียงส่วนน้อย ที่ปรากฏในที่ประชุม เบื้องต้นยังไม่สรุปมติร่าง พ.ร.บ.งบฯ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. ที่รัฐสภา เกียกกาย นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์หลังเสียงส่วนใหญ่ของพรรคโหวตไม่รับร่างกับพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ 2562 ว่าหลังจากนี้ต้องไปว่ากันในพรรคและภายในกรรมการบริหารพรรคแต่ที่แน่ๆ ต้องยืนยันว่า มติพรรคที่ออกไปแล้ว 70 เสียงของส.ส.ที่โหวตไม่เห็นด้วยนั้น มาจากการประชุมร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน ทั้งตอนที่ไปสัมมนาที่ต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยมีการอภิปรายแลกเปลี่ยนกันและเมื่อเปิดลงมติก็ได้มตินี้มา เมื่อถามถึงข้อสาเหตุที่ส.ส.บางคนท่านหมดสวนมติพรรคมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการส่งผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นกระบวนการภายในพรรคเราจะไปคุยกันอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ตนยืนยันว่าเราออกแบบพรรคอนาคตใหม่มาได้พยายามสร้างหลักประชาธิปไตยภายในพรรค ตนคิดว่าพรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่เปิดโอกาสให้กรรมการบริหารพรรค และส.ส. ได้ถกเถียงและแลกเปลี่ยนในที่ประชุมอย่างเต็มที่ หลายครั้งมติพรรคที่ออกมาเสียงของหัวหน้าพรรคก็เป็นเสียงส่วนน้อย มติดังกล่าวเกิดจากการอภิปรายอย่างหนัก และเพื่อให้พรรคเป็นมีความเป็นเอกภาพ ตนขออนุญาตไม่บอกว่าระหว่างหารือใครเป็นเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อย แต่ยืนยันว่า ส.ส.ของเราเคารพมติพรรค ทั้งนี้ก่อนที่เราจะโหวตก็ไม่ได้พูดคุยหารือกับพรรคฝ่ายค้าน เพราะนี่คือจุดยืนของอนาคตใหม่ เมื่อถามว่าพรรคมีความกังวลหรือไม่ที่อาจจะมีส.ส.โหวตสวนมติพรรคเรื่องร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 หรือไม่ นายปิยบุตร กล่าวว่า ขอให้รอดูต่อไปเหตุการณ์ยังไม่เกิดแต่ตนเชื่อมั่นในส.ส.อนาคตใหม่ เพราะทุกคนได้รับการเลือกตั้งมา มีพันธะผูกมัดกับประชาชน ที่ให้ความไว้วางใจผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นทุกคนจึงยึดมั่นในอุดมการของพรรคและผลประโยชน์ของประชาชน และร่วมต่อสู้ให้ถึงที่สุด ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีมติที่ชัดเจนการโหวตรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ยังอยู่ในช่วงการปรึกษาหารือ รอการประชุมสภาให้เสร็จก่อน “ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นการบริหารจัดการของพรรคเราอยากสร้างมิติใหม่ๆ ขึ้นมา เรื่องใดๆ ก็ตามไม่เฉพาะเจาะจงแค่การลงมติไม่อนุมัติพ.ร.ก.ฉบับนี้เท่านั้น ตนอยากให้มองเป็นเรื่องทั่วไป เพราะเราต้องการออกแบบกระบวนการทำอย่างไรให้สมาชิกพรรคได้สามารถถกเถียงได้อย่างเต็มที่ เสร็จแล้วก็ลงมติแล้วว่ากันไปตามเสียงข้างมาก และเคารพเสียงข้างน้อย ทิศทางแบบนี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดีของการเมืองไทย” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าว