ทุกครั้งที่เกิดน้ำท่วม หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการร่วมแก้ปัญหาคือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA – จิสด้า ทั้งนี้ เพจ GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ได้โพสต์สาระความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ดาวเทียมสามารถช่วยเหลือน้ำท่วมได้อย่างไร โดยระบุ จิสด้า มีภารกิจหลักในการให้บริการชั้นข้อมูลจากดาวเทียม และข้อมูลภูมิสารสนเทศต่าง ๆ ที่ได้จัดทำขึ้นและสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐนำไปใช้แก้ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง รวมถึงแจ้งข้อมูลข่าวสารกับประชาชนเกี่ยวกับสถานะน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ เพื่อการเตรียมตัวและเฝ้าระวัง ขณะเกิดภาวะน้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ จิสด้าจะวางแผน สั่งถ่าย และรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อแปล-ตีความพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่นั้นๆ อย่างทันท่วงที และนำมาวิเคราะห์ผลกระทบในแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบและติดตามพฤติกรรมของน้ำ-ทิศทางน้ำไหล และการวางแผนแก้ไขปัญหา ทั้งในระหว่างเกิดน้ำท่วมและเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เพื่อใช้ในการวางแผนฟื้นฟูเยียวยาให้ผู้เดือดร้อน พร้อมวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เพื่อบูรณาการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน การเตรียมการเพื่อรับมือกับภัยน้ำท่วม โดยในการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อการติดตามสถานการณ์อุทกภัย จะมีขั้นตอนคร่าวๆ คือ เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม จิสด้าจะประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ปริมาณน้ำ กลุ่มเมฆฝน ข้อมูลสถานีเรดาห์ชายฝั่ง และข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประเมินสถานการณ์ภัยน้ำท่วมว่าอยู่ในระดับใด จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนโปรแกรมและวางแผนรับสัญญาณข้อมูลจากดาวเทียม ซึ่งเป็นการจัดหาข้อมูลภาพดาวเทียม โดยดาวเทียมที่จิสด้าใช้งานในปัจจุบันมีทั้งดาวเทียม THEOS (Thailand Earth Observation Satellite) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทย และดาวเทียมระบบอื่นที่จิสด้ารับสัญญาณเพื่อใช้บันทึกข้อมูลภาพน้ำท่วมต่างช่วงเวลาและต่างรายละเอียดภาพ เช่น ดาวเทียม RADARSAT-2 และ และดาวเทียม Cosmo-Skymed ที่มีคุณสมบัติถ่ายภาพทะลุเมฆหมอก โดยจิสด้าจะประเมินแนวสั่งถ่ายภาพจากระบบโปรแกรมภาพดาวเทียม เพื่อส่งคำสั่งถ่ายภาพดาวเทียมไปยังหน่วยงานต่างประเทศ และแจ้งสถานะการสั่งภ่ายภาพ ทั้งฝ่ายรับสัญญาณ ฝ่ายผลิต และฝ่ายบริการข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมมาแล้ว จะนำไปผ่านกระบวนการประมวลผลข้อมูล (Image Processing) บูรณาการร่วมกับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ที่เกี่ยวข้อง เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน แบบจำลองลักษณะภูมิประเทศ จากนั้นจึงนำข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมมาซ้อนทับกับข้อมูลขอบเขตการปกครองในระดับจังหวัด – อำเภอ และตำบลเพื่อจัดทำเป็นฐานข้อมูลพื้นที่น้ำท่วมในแต่ละช่วงเวลา และจัดแสดงเป็นแบบจำลองพื้นที่น้ำท่วม เพื่อให้ทราบถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และวิเคราะห์ระยะเวลาที่คาดว่าน้ำจะท่วมขัง โดยแบ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมขัง 1-7 วัน และมากกว่า 7 วัน สำหรับใช้ประมาณการความเสียหายที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ เมื่อบูรณาการข้อมูลเหล่านี้เสร็จสิ้น เข้าสู่ขั้นตอนวิเคราะห์ด้านสังคมและกายภาพของพื้นที่ ทำให้ทราบจำนวนประชากรและครัวเรือนที่ประสบภัยน้ำท่วม จากนั้นจะจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำท่วม เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนตัดสินใจของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การวางแผนให้ความช่วยเหลือต่อไป นอกจากอาศัยข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมแล้ว เพื่อความถูกต้อง แม่นยำ ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ลงพื้นที่เก็บข้อมูลภาคสนามโดยรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ รถจัดทำแผนที่เคลื่อนที่ (Mobile Mapping) และเครื่องมืออื่นๆ ในบริเวณพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ทั้งนี้ นอกจากจัดทำรายงานสถานการณ์น้ำท่วมให้รัฐบาล จิสด้าจะประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สื่อมวลชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจติดตามสถานการณ์อุทกภัย ที่ http://gmos.gistda.or.th ขอบคุณเรื่อง-ภาพจากเพจ GISTDA