ถือเป็นเรื่องประเพณีปฏิบัติกับการเปลี่ยนแปลงการบริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงต่าง ๆ หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เพื่อส่งคนที่ไว้ใจ และสามารถควบคุมได้เข้าไปบริหาร โดยเฉพาะตำแหน่ง “คณะกรรมการบริหาร” ที่จะไปกำกับดูแลระดับซีอีโอ ในองค์กรนั้น ๆว่าสามารถตอบสนองนโยบายของพรรคการเมืองที่รับผิดชอบหน่วยงานนั้นได้ดีหรือไม่ ซึ่ง “กระทรวงคมนาคม” เป็นหนึ่งกระทรวงที่มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารอย่างชัดเจน ถึงขนาดที่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้ “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม พิจารณากระบวนการ และการกำกับดูแล การแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ว่า ในส่วนของกระทรวงคมนาคมต้องทำอย่างไรบ้าง ให้ดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ ตาม พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และ พ.ศ. 2562 ทั้งนี้หน่วยงานที่มีกำไรไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน และอยู่ในแผนฟื้นฟู เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) , การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.), บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ส่วนของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการหารือกับ “ถาวร เสนเนียม” รมช.คมนาคม ในฐานะผู้กำกับดูแล ล่าสุด“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ส่งเด็กในคาถา ที่ถือว่าเป็นมือทำงาน เข้าไปนั่งกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นที่เรียบร้อย คือ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” (รฟท.) จำนวน 8 ราย ได้แก่ จิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เป็นประธานกรรมการ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย ชยธรรม์ พรหมศร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงคมนาคม ,ศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีด้านที่ราชพัสดุกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลัง ,อำนวย ปรีมนวงศ์ อดีตอธิบดีกรมธนารักษ์ เป็นกรรมการ ,ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงินบริษัท เอกชัย ดิสทริบิวชั่นชิสเทม จำกัด เป็นกรรมการ ,ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการอิสระ ประธานกรรมการตรวจสอบ กรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน บริษัททีพีบีไอจำกัด (มหาชน) หรือ TPB เป็นกรรมการ ,พินิจ พัวพันธ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หลักทรัพย์เคทีชีมิโก้ จำกัด (ktzmico) เป็นกรรมการ และวรวุฒิ มาลา รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นกรรมการ ขณะที่บอร์ดรัฐวิสาหกิจอื่น อาทิ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) คาดว่าส่ง “ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ” ปลัดกระทรวงคมนาคม นั่งประธานบอร์ดรฟม. และ “วิทยา ยาม่วง” อธิบดีกรมเจ้าท่า นั่งประธานบอร์ดขสมก. ส่วนการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคุณสมบัติของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนที่บอร์ดรฟท.ชุดใหม่ที่ต้องดำเนินการ คือ การพิจารณามอบอำนาจให้ ฝ่ายกฎหมาย รฟท.ยื่นฟ้องศาลแพ่ง เพื่อดำเนินคดีกับ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก่โฮปเวลล์ฯ เป็นเงิน 11,888 ล้านบาท ไม่รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำสั่งศาลปกครอง ภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนด วันที่ 19 ต.ค. 2562 ,โครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,421 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่มีการปรับกรอบวงเงินจากที่ ครม. อนุมัติไว้ที่ 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท และ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. มูลค่า 224,544.36 ล้านบาท ซึ่งจะมีการลงนามสัญญากับ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ในวันที่ 25 ต.ค. 2562 ซึ่งหากดำเนินการภายใต้กรอบ เงื่อนไข RFP และกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่มีเหตุผลใดที่ทำให้ต้องยกเลิกสัญญา ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการคัดเลือกฯได้มีการตรวจสอบร่างสัญญาอย่างละเอียด “การกำหนดวันที่ในการลงนามสัญญาณถูกมองว่าเป็นการบีบบังคับ ให้กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญานั้น ตนเองไม่เข้าใจคำว่าบีบบังคับ เพราะในขั้นตอนการดำเนินโครงการนั้น จะมีเงื่อนไขเวลา วันที่ 7 พ.ย. 2562 เป็นวันสิ้นสุดการยืนราคา ดังนั้น จึงไม่ใช่การบีบบังคับ เพราะหากบังคับ คงทำไปนานแล้ว ส่วนหลังลงนามสัญญาไปแล้ว สิ่งใดที่อยู่ในกฎหมายที่รัฐควรดำเนินการให้ จะต้องเร่งดำเนินการ เช่น เรื่องการส่งมอบพื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ 72% อยู่ตรงไหนบ้างเพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถวางแผนในการก่อสร้าง ในจุดที่พร้อมส่งมอบได้ก่อน และพื้นที่ ที่ยังติดการรื้อย้ายสาธารณูปโภคก็จะให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆมาชี้แจงแผนการรื้อย้าย และงบประมาณที่ต้องใช้ ระยะเวลาในการรื้อย้าย ทำทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา ทำให้มั่นใจว่าการก่อสร้างจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567-2568 ใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 5 ปี” จึงต้องจับตามองผลงานของบอร์ดรัฐวิสาหกิจชุดใหม่ รมว.คมนาคม ส่งเข้าไปกำกับดูแล และขับเคลื่อน โดยเฉพาะ “การรถไฟฯ” ที่กำลังอยู่ในช่วง “เข้าด้าย เข้าเข็ม” กับโครงการอภิมหาโปรเจ๊กไฮสปีดเทรน และค่าโง่โฮปเวลล์ฯ วัดฝีมือเด็กในคาถางานนี้จะสอบผ่านหรือไม่!!!