สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอนร้อง โครงการขุดลอกลำน้ำส่งผลกระทบต่อราษฎรและระบบนิเวศน์ ล่าสุดต้นข้าวชาวบ้านเน่าตายและระบบประปาเดี้ยงทั้งหมู่บ้าน ด้านผวจ.แม่ฮ่องสอน สั่งตั้งกรรมการสอบการรับเหมางานในโครงการจังหวัดละ 200 ล้านทั้งหมดเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 นายธวัช นีละออน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ได้ร้องเรียนต่อผู้สื่อข่าว กรณีมีการจัดทำโครงการขุดลอกลำน้ำปอน ของ อบต.ที่ส่งผลกระทบต่อที่ดินของราษฎรที่อยู่ติดลำน้ำ เนื่องจากการขุดลอกบางแห่งได้มีการทำให้น้ำเปลี่ยนทิศพุ่งเข้าหาที่นาของราษฎร ซึ่งจะส่งผลกระทบในระยะยาวเมื่อถึงหน้าฝนฤดูกาลหน้า เมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลากจะทำให้ที่ดินริมตลิ่งทรุดตัวกระทบต่อราษฎรเจ้าของที่นาโดยตรง นอกจากนั้นการขุดลอกลำน้ำทั่วไป พบว่า มีการขุดลอกเป็นจุด ๆ ไม่ต่อเนื่อง และบางแห่งมีการลักลอบขุดลอกในเวลากลางคืน อีกด้วย ที่สำคัญ การขุดลอกลำน้ำส่งผลให้ที่อยู่อาศัยของปลาตามธรรมชาติได้เสียหายไปด้วย ทำให้ปลาตามธรรมชาติได้มีปริมาณลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของราษฎร นายธวัช นีละออน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน เปิดเผยต่อไปว่า การขุดลอกลำน้ำดังกล่าว ตนไม่เห็นด้วย หากถ้าจะมีการช่วยเหลือประชาชนอย่างจริงจังน่าจะนำงบประมาณที่ได้มา ไปทำประโยชน์อย่างอื่นดีกว่า อาทิ การจัดหาแหล่งน้ำไว้ใช้ในยามหน้าแล้งที่จะถึงนี้ หรือการซ่อมแซมแหล่งเก็บกักน้ำเดิมที่ทรุดโทรม การขุดลอกลำน้ำเห็นขุดกันทุกปี แต่ไม่เห็นว่าราษฎรจะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวแต่อย่างใด มีแต่ผลกระทบตามมา ที่ไม่สามารถแก้ไขให้ราษฎรได้เลย สำหรับที่หมู่บ้านหางปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ได้มีการขุดลอกลำน้ำบริเวณฝายทดน้ำเพื่อใช้ในการผลิตน้ำประปาของหมู่บ้าน การขุดลอกหินและทรายบริเวณหน้าฝาย ส่งผลให้ทรายบริเวณตอนบนขึ้นไป ได้ถูกกระแสน้ำพัดพามาทับถมหน้าฝายทำให้น้ำตื้นเขิน ไม่สามารถผลิตน้ำประปาเพื่อการบริโภคและอุปโภคได้ โดยราษฎรในหมู่บ้านหางปอนกว่า 100 หลังคาเรือนไม่มีน้ำประปาใช้มากว่า 2 สัปดาห์แล้ว นายสุวพงศ์ กิตติภัทย์พิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องการนำงบประมาณ ที่ทางรัฐบาลสนับสนุนจังหวัดละ 200 ล้านดังกล่าว ไปทำการขุดลอกลำน้ำนั้น และพบว่า มีราษฎรในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ ตนได้สั่งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการดังกล่าว จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบว่า การขุดลอกแหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อราษฎรอย่างไรบ้าง และการจัดซื้อจัดจ้างสมเหตุผลหรือไม่อย่างไร หากส่งผลกระทบ และการขุดลอกไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ผู้รับเหมาและองค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากพบว่าผิดจริงจะดำเนินการลงโทษทั้งทางวินัยและอาญาอย่างเด็ดขาดต่อไป ว่าที่ร้อยตรีณรงค์ชัย จินดาพันธ์ นายอำเภอขุนยวม เปิดเผยว่า เรื่องการขุดลอกลำน้ำในเขตของอำเภอขุนยวม พบว่า มีราษฎร ได้รับผลกระทบจริง ซึ่งอยากให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบ ให้รีบทำเรื่องร้องทุกข์มายังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอขุนยวม เพื่อที่จะได้มีการแก้ไขปัญหาให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2547 การดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ (ห้วย หนอง คลอง บึง ล้าน้ำ และแม่น้ำ) ที่อยู่ในอำนาจการดูแลรักษาของกระทรวงมหาดไทย โดยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการขุดลอก แหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ พ.ศ. 2547 (ภาคผนวก ก-1) โดยจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้ แนวทางการดำเนินการตามนโยบายขุดลอกแหล่งน้ำ ประกอบด้วย หลักการ /การดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่อยู่ในอำนาจการดูแลรักษาของกระทรวงมหาดไทยเพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาอุทกภัยหรือภัยแล้ง ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ วัตถุประสงค์ / 1. เพื่อฟื้นฟูสภาพของแหล่งน้ำไม่ให้มีการตื้นเขิน 2. เพื่อให้การคมนาคมทางน้ำสะดวก 3. เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง 4. เพื่อให้เกิดการระบายน้ำที่ดีเมื่อถึงฤดูฝน 5. เพื่อเป็นการป้องกันน้ำท่วม ที่สำคัญ ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการขุดลอกแหล่งน้ำ นั้น เป็นการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไข หรือบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรอันเกิดจากภัยแล้งหรือน้ำท่วม รวมถึงอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำให้คงสภาพตามระบบนิเวศน์ ทศพล / แม่ฮ่องสอน