ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ก่อนเกิดการตัดสินใจถอนตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ ได้เกิดสงครามในหลายพื้นที่ของภูมิภาคตะวันออกกลาง และอาฟริกาเหนือ ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์อาหรับสปริง หรือการลุกฮือของประชาชนเพื่อโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบใด เหตุการณ์เหล่านี้ความจริงมันมีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน กล่าวคือรัฐบาลในแต่ละประเทศส่วนใหญ่ล้มเหลวในการบริหารงานด้านเศรษฐกิจ ผู้คนระดับล่างยากจนอดอยาก เกิดการคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการ ทหาร และนักการเมืองสายผู้ปกครองและครอบครัว กลุ่มนายทุนที่สมคบกับชนชั้นปกครองก็มีอำนาจผูกขาดกอบโกยผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน ทำให้เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนคนรวยในขนาดที่กว้าง ส่วนปัจจัยภายนอกก็คือการเข้ามาแทรกแซงของมหาอำนาจ โดยเฉพาะฝ่ายตะวันตกที่มีตัวแสดงนำคือ สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศส จนในที่สุดก็เกิดสงครามภายในพื้นที่แต่ละประเทศ โดยมหาอำนาจให้การสนับสนุนเพื่อตักตวงเอาทรัพยากรในภูมิภาคเหล่านี้ โดยเฉพาะน้ำมัน เกิดการเข่นฆ่าผู้คนจากกองกำลังหลายฝ่าย และกลุ่มก่อการร้ายที่มีการสนับสนุนจากต่างประเทศ เช่น กลุ่มไอเอส ที่มีเมกาและอังกฤษให้การสนับสนุน ทั้งการฝึก อาวุธและการเงินเป็นบางส่วน เมื่อสงครามเกิดขึ้นประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ต้องหนีตายอพยพลี้ภัยไปยังประเทศต่างๆอดอยากยากแค้นแสนสาหัส ผู้อพยพจำนวนหนึ่งจึงมุ่งหนีตายเข้าไปในยุโรป ซึ่งแน่นอนก็ย่อมจะมีผู้ก่อการร้ายแอบปะปนเข้าไปด้วย แต่พวกหัวรุนแรงภายในที่เหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติก็ทำการก่อการร้ายซ้ำเติมให้เกิดความรุนแรงมากขึ้นสหภาพยุโรปจึงมีนโยบายที่จะผ่อนปรนบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้หนีร้อนมาพึ่งเย็น เพื่อมนุษยธรรมแม้จะเกิดปัญหาภายในของตนบ้างก็ตาม นโยบายของสหภาพทำให้เหล่าสมาชิกต้องปฏิบัติตาม แต่ฝ่ายอังกฤษไม่เห็นด้วย ทั้งๆที่ตนเองมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง และอาฟริกาเหนือ จนประชาชนเหล่านั้นเดือดร้อนต้องอพยพหนีภัย เมื่อเกิดกระแสภายในอังกฤษที่ต่อต้านไม่ยอมรับผู้อพยพ จึงเกิดประเด็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งต่างก็ยกเอาเหตุผลมาต่อสู้กันถึงข้อดี ข้อเสียในการอยู่ร่วมกับสหภาพยุโรป จนในที่สุดก็เลยมีการทำประชามติ ผลคือฝ่ายให้ถอนตัวจากสหภาพยุโรปชนะเฉียดฉิวไม่เกิน 2% ของผู้มาออกเสียงทั้งหมด ตรงนี้ต้องขอแทรกเกร็ดข้อมูล คือ ในการรณรงค์หาเสียงสนับสนุนของแต่ละฝ่ายนั้นรัฐบาลเปิดเสรี ไม่เหมือนบางประเทศ แต่ในขบวนการหาเสียงนั้นฝ่ายที่ต้องการออกจากสหภาพยุโรปที่เรียกว่า BREXIT นี้ ใช้หน่วยงานเอกชนแห่งหนึ่งคือ Cambridge Analytica มาทำแคมเปญ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ได้ใช้ข้อมูลจาก FB และ Google ในการครอบงำหรือชักจูงความคิดให้คล้อยตามด้วยการตลาดยุคใหม่ และการผลิตซ้ำทางความคิดที่แยบยล ที่น่าสังเกตบริษัทแห่งนี้ก็เป็นที่เดียวกับที่ได้ ช่วยทำแคมเปญให้ทรัมป์จนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนั่นเอง มาถึงวันนี้ทั้งคนที่เลือกทรัมป์และคนที่หนุนเบร็กซิทก็ยังคงงงๆงวย หรือเคลิบเคลิ้มกับผลสำฤทธิ์ที่ออกมาอยู่ไม่น้อย แต่กรณีเบร็กซิทของอังกฤษ มันมีความสลับซับซ้อนของปัญหาอยู่หลายประการที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนจำนวนมาก นี่ยังไม่นับผลกระทบที่จะเกิดกับฝั่งยุโรป ทั้งปัญหาการจ้างงานที่เปิดเสรีในตลาดที่ใหญ่กว่ามาก หากรวมกันอยู่ในสหภาพ การเคลื่อนย้ายทุน และตลาดสินค้าที่ใหญ่มาก ทำให้เกิดแรงจูงใจในการลงทุนทำนวตกรรมมากขึ้น อันนับเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก อนึ่งขนาดตลาดที่ใหญ่และเป็นเอกภาพด้วยระบบภาษีเดียวกัน ยังทำให้มีอำนาจต่อรองที่สูงขึ้นมากกว่าที่สหราชอาณาจักรจะทำได้โดยลำพัง แต่ปัญหาสำคัญและละเอียดอ่อนมากคือ องค์ประกอบของสหราชอาณาจักรนั้น มีรัฐอยู่ร่วมกันหลายรัฐ เช่น เวล สก็อตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ เพราะรัฐเหล่านั้นเคยได้ประโยชน์อย่างมากในการรวมตัวกับสหภาพยุโรป ทั้งการสร้างแรงจูงใจให้มีการเข้ามาลงทุนจากต่างชาติ เช่น สหรัฐฯมาลงทุนอย่างมากในไอร์แลนด์เหนือ และสก็อตแลนด์ ด้วยอาศัยเป็นสะพานเจาะตลาดยุโรป และทั้ง 2 รัฐนี้มีค่าใช้จ่ายต่ำ มีสิ่งอำนาจความสะดวกที่ดีพอควร และบุคลากรมีคุณภาพในระดับดี ในตอนออกเสียงประชามติทั้ง 2 รัฐนี้ คะแนนส่วนใหญ่ไม่อยากแยกตัว แต่คะแนนรวมแพ้ไปหวุดหวิดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว จึงมีกระแสที่ทั้ง 2 รัฐอยากแยกตัวจากอังกฤษ เพื่อยังคงรวมกับสหภาพยุโรป จุดเปราะบางที่สุดคงจะเป็นที่ไอร์แลนด์เหนือ ที่มีอาณาเขตติดต่อกับสาธารณรัฐไอแลนด์ และมีชนเชื้อชาติเดียวกันอาศัยอยู่เป็นประชากรส่วนใหญ่ เฉพาะที่ไอร์แลนด์เหนือนั้นเคยเกิดเหตุก่อการรุนแรงด้วยกองกำลังไอริช (IRA) มาแล้ว มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก จากกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนไปรวมกับไอแลนด์ รบอย่างไรปราบอย่างไรสิ้นเปลืองชีวิตผู้คนไปไม่น้อย แถมยังมีการเชื่อมโยงไปในรูปการต่อต้านจากชาวไอริชที่อยู่ในยุโรปและสหรัฐฯ สุดท้ายเพียงไม่กี่ทศวรรษเหตุการณ์ก็สงบด้วยวิถีทาง ทางการเมือง กลุ่มชาตินิยมหัวรุนแรงไอริชก็ได้จัดตั้งพรรคการเมืองซินเฟนขึ้น และเข้าร่วมสร้างสรรค์สันติภาพด้วยการเมือง ดังนั้นก่อนจะด่าการเมือง (Politic) ต้องเข้าใจกันให้ดีก่อน รวมทั้งการเหมาด่านักการเมือง (Politician) และการสร้างนโยบาย (Policy) ว่ามันมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด ซึ่งแน่นอนขึ้นอยู่กับคนใช้ เพราะมันมีทั้งคุณอนันต์ และโทษมหันต์ หากใช้ผิดที่ผิดทาง ถ้ามองอย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่ากองทัพก็เช่นกัน อาจถูกใช้ไปสร้างชาติหรือทำลายชาติก็ได้ เรื่องของไอร์แลนด์เหนือจึงกลายเป็นจุดสำคัญที่อาจจะสั่นคลอนเสถียรภาพทั้งของอังกฤษและยุโรป จึงเกิดคำว่า Back Stop นั่นคือ หากสหราชอาณาจักรจะแยกตัวจากสหภาพยุโรป จะทำอย่างไรหรือมีนโยบายอย่างไรกับไอร์แลนด์เหนือ นั่นคือถ้าแยกกันแบบเด็ดขาดไอร์แลนด์เหนือที่อยู่ตอนเหนือของเกาะอังกฤษก็ต้องแยกตัวจากสาธารณะรัฐไอร์แลนด์ โดยมีการตรวจคนเข้าเมือง มีวีซ่า มีการเก็บภาษีสินค้าผ่านแดน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี และคนไอร์แลนด์ก็มีความสุขที่ไปมาหาสู่กับพี่น้องเชื้อชาติเดียวกัน ถ้ามีการปิดกั้นอาจเกิดความรุนแรงกลับมาอีกครั้ง และจะเดือดร้อนกันไปทั่ว แต่ถ้าทำเป็นพิธีโดยปิดอย่างหลวมๆ สหภาพยุโรปก็คงไม่ยอมเพราะอังกฤษจะได้ประโยชน์โดยไม่ต้องจ่ายค่าสมาชิกสหภาพ ดังนั้นจึงต้องหาจุดแห่งความพอดีที่เป็นที่ยอมรับทั้งสองฝ่าย และทำให้ชาวไอริชจำนวนหลายล้านเป็นสุขด้วย แต่เวลายิ่งกระชั้นไปทุกที ทั้งสองฝ่ายก็ยังหาข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับกันไม่ได้สักที ถ้าปล่อยให้แยกกันไปเฉยๆ คือ No Deal ก็อาจก่อให้เกิดการบั่นทอนเสถียรภาพของยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ เรื่องนี้แม้อยู่ห่างไกลแต่ก็อาจจะเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของไทยได้ โดยใช้มาตรการทางการเมืองแทนมาตรการทางทหาร ที่ยิ่งใช้ก็ยิ่งสิ้นเปลืองทั้งบประมาณและชีวิตคน แต่ปัญหาไม่จบซักที แล้วอย่ามาเหมาว่าผู้เขียนขอแก้ไขมาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญ 60 ก็แล้วกัน