ชาวบ้านในตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โวยโรงงานแป้งมันปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำห้วยแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำลายระบบนิเวศน้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ปลา-ต้นข้าวตายเกลื่อน ซ้ำยังทำชาวบ้านล้มป่วยเป็นโรคผิวหนังและทางเดินหายใจ ด้านเจ้าหน้าที่กอ.รมน.และศูนย์ดำรงธรรม พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจพบโรงงานแอบต่อท่อปล่อยน้ำเสีย แต่ ผจก.โรงงาน กลับยืนยันไม่ได้ปล่อยน้ำเสียและทำตามขั้นตอนร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลคำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ นายไพโรจน์ จิตจักร์ นอภ.ห้วยผึ้ง นายมาวิน ยศรุ่งเรืองวัฒนา ผอ.ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ นายประดิษฐ สุดชาดา ผอ.ส่วนสิ่งแวดล้อม สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ นายศักดิ์สิทธิ์ สิงห์สุนิตย์ อุตสาหกรรม จ.กาฬสินธุ์ นายสงวนศักดิ์ โคตรพัฒน์ นายกทต.คำบง พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.กาฬสินธุ์ และกอ.รมน.กาฬสินธุ์ ลงพื้นที่เข้ารับฟังปัญหาข้อร้องเรียนของชาวบ้านโคกศรี ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์ กรณีโรงงานแป้งมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ปล่อยน้ำเสียลงสู่ห้วยกุดแข้-หนองบึงใหญ่ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสาธารณะธรรมชาติและเป็นลำน้ำสาขาของลำน้ำยัง ส่งผลให้น้ำระบบนิเวศเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซ้ำยังทำให้ปลาและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่น้ำตายเป็นจำนวนมาก รวมถึงต้นข้าวของเกษตรกรต่างล้มตายจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวถูกปล่อยเรื้อรังมาหลายปีแล้ว ทำให้ปัจจุบันส่งผลไปถึงการใช้ชีวิตของประชาชน เนื่องจากมีชาวบ้านล้มป่วย เป็นโรคทางเดินหายใจ และผิวหนังหลายราย เนื่องจากสัมผัสกับน้ำในลำห้วยที่เน่าเสียได้รับกลิ่นแป้งจากโรงงาน ทั้งนี้ในการประชุมมีตัวแทนชาวบ้านเข้ารับฟัง และมีนายสมพงษ์ ชนะศึก ผจก.โรงงานแป้งมันกาฬสินธุ์ พร้อมเจ้าหน้าที่โรงงานชี้แจง พร้อมยืนยันว่า ทางโรงงานไม่ได้ปล่อยน้ำเสีย และได้ดำเนินการบำบัดน้ำเสียตามขั้นตอน 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเบื้องต้นไม่ยอมให้สัมภาษณ์หรือข้อมูลใดๆเพิ่มเติม จากนั้น พ.อ.มานพ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ได้สุ่มลงพื้นที่ตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสียบริเวณหลังโรงงานดังกล่าว ซึ่งมีอยู่กว่า 15 บ่อ หลังจากชาวบ้านแจ้งว่าเป็นจุดปล่อยน้ำเสีย โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า บ่อบำบัดน้ำเสียบ่อที่ 2 และบ่อที่ 3 ที่มีสภาพน้ำเน่าเหม็นมีสีขุ่น และอยู่ติดคลองน้ำริมถนนสาธารณะ มีการต่อท่อพีวีซีขนาดใหญ่จากบ่อบำบัดน้ำเสียออกมาสู่คลองน้ำริมถนน 2 จุด ซึ่งจุดแรกมีการนำฝาท่อมาปิดไว้ หลังชาวบ้านร้องเรียนและก่อนที่เจ้าหน้าที่มาตรวจเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากพบคราบกาวติดใหม่ ส่วนจุดที่ 2 พบมีการติดตั้งวาวปิด-เปิด พร้อมใช้งานปล่อยน้ำตลอดเวลา ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าทั้งสองจุดนี้เป็นจุดที่มีการปล่อยน้ำเสียและไหลไปสู่ลำห้วยกุดแข้ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบน้ำในลำห้วยกุดแข้ บริเวณบ้านโคกศรี ม.2 ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง พบว่า สภาพน้ำมีสีน้ำตาลอมดำ มีคราบมัน ส่งกลิ่นเหม็นเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร ซึ่งผิดธรรมชาติ ในน้ำพบว่ามีปลา และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำตายจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านในละแวกนี้ไม่กล้าที่จะลงน้ำ เนื่องจากเกรงได้รับอันตรายและสารพิษ นอกจากนี้ยังพบต้นข้าวของเกษตรกรที่อยู่บริเวณโดยรอบลำห้วยกุดแข้ล้มตาย และไม่ออกรวงอีกจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างตรวจสอบความเสียหาย จากการสอบถามนายอนุชา แสงโคตร อายุ 43 ปี ชาวบ้านโคกศรี ต.คำบง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านโคกศรี และชาวบ้านใน ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง รวมไปถึง ต.สงเปือย อ.นามน กำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจากน้ำสภาพน้ำในลำห้วยกุดแข้ แหล่งน้ำธรรมชาติของลำน้ำยังที่ใช้หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านหลายหมู่บ้านตั้งแต่ ต.คำบง อ.ห้วยผึ้ง ยาวไปถึง ต.สงเปือย อ.นามน ระยะทางหลายกิโลเมตรมีสภาพเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น อีกทั้งยังมีปลาและสิ่งมีชีวิต รวมถึงนาข้าวของชาวบ้านล้มตายจำนวนมาก สาเหตุคาดว่าเกิดจากโรงงานแป้งมันปล่อยน้ำเสียไหลลงมาทำให้ระบบนิเวศเน่าเสีย ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้านนางรัตนสุดา ชอบดี ชาวบ้านโคกศรี กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านไม่กล้าที่จะลงไปในลำห้วยและสัมผัสน้ำ รวมถึงใช้ประโยชน์น้ำในลำห้วยแห่งนี้แล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับอันตรายจากน้ำเน่าเสียและเกรงว่าจะมีสารพิษ เพราะมีปลาตายจำนวนมาก ซึ่งปัญหาดังกล่าวทำให้ชาวบ้านล้มป่วยเป็นผิวหนัง มีผื่น และตุ่มแดงขึ้นตามตัวเมื่อสัมผัสน้ำ นอกจากนี้ยังมีชาวบ้านล้มป่วยเป็นโรคทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุ เพราะนอกจากจะสัมผัสน้ำที่เน่าเสียแล้ว ยังต้องสูดดมกลิ่นเหม็นและฝุ่นของโรงงานแป้งมันแห่งนี้มาหลายสิบปี จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือ ขณะที่พ.อ.มานพ ไขขุนทด รองผอ.รมน.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า หลังจากเจ้าหน้าที่ได้รับการร้องทุกข์จากประชาชนจึงลงพื้นที่เข้าตรวจสอบบ่อบำบัดน้ำเสีย ซึ่งพบว่า ทางโรงงานได้มีลักลอบต่อท่อพีวีซีขนาด 6-8 นิ้ว เพื่อสามารถใช้เป็นการระบายน้ำลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ซึ่ง ทำให้น้ำเสียไหลลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ส่งผลให้ปลา และต้นข้าวของพี่น้องประชาชนล้มตายจำนวนมาก ซึ่งสาเหตุน่าจะเกิดจากน้ำเสียของโรงงานแห่งนี้ อย่างไรก็ตามจะได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำ รวมทั้งโรงงาน พร้อมทั้งการวางแนวทางในการเร่งแก้ไขปัญหาต่อไป