นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ระบุว่า... คณะกรรมการญาติพฤษภา ๓๕ และ สภาที่ ๓ เรียกร้องให้ตรวจสอบว่ามีการทุจริตและประพฤติมิชอบโครงการไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน หรือไม่? ข้อพิรุธที่ 1. เจตนาให้ ร.ฟ.ท. ลงทุนไม่คุ้มค่า หรือไม่? เนื่องจากมีการเปิดช่องว่างให้มีการฮุบที่ดิน ของล้นเกล้าล้นกระหม่อมรัชกาลที่ 5 ที่ทรงประทานให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อปวงชนของพระองค์ในชนบทที่ห่างไกลจากเมืองหลวง แต่บอร์ด อีอีซี ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นประธานให้ ร.ฟ.ท. ลงทุนโดยยกที่มักกะสัน 150 ไร่ให้นายทุนเอกชนไปหาประโยชน์ 50 ปี ใด้ค่าเช่าเพียงห้าหมื่นล้านบาท ทั้งที่มูลค่าที่แท้จริงอยู่ระหว่างสองถึงสามแสนล้านบาท โดยอ้างการตีราคาโดยสถาบันเถื่อนที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้ขึ้นทะเบียน นอกจากนี้ ให้ ร.ฟ.ท. ยกรถไฟแอร์พอร์ตเรลลิงค์ที่ลงทุนไปกว่าสามหมื่นล้านบาทแก่เอกชนไปหาประโยชน์ โดยได้เงินเพียงหนึ่งหมื่นล้านบาท ในขณะที่ประโยชน์ที่ ร.ฟ.ท. จะได้จากโครงการรถไฟความเร็วสูง กว่า 30 ปีจึงจะคุ้มทุน ข้อพิรุธที่ 2. เจตนาทำให้ ร.ฟ.ท. เสียค่าโง่หรือไม่? เนื่องจากไม่ปรากฏการรักษาผลประโยชน์ของชาติ โดยส่งมอบพื้นที่พระราชทาน ที่บริเวณมักกะสัน 150 ไร่ ให้เอกชนทำประโยชน์โดยทันที ส่วนการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงที่เป็นโครงการหลักกลับปล่อยให้เลื่อนลอย และในที่สุดอาจจะไม่มีการสร้างเกิดขึ้นจริง จากสาเหตุที่การรถไฟไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ครบถ้วน ดังเอกสารยืนยันจากสหภาพแรงงานรถไฟ ความเลื่อนลอยในการก่อสร้างระบบรถไฟดังกล่าว เกิดจากร่างสัญญาอนุญาตให้เอกชนเลื่อนกำหนดการก่อสร้างระบบรถไฟได้ จึงอาจทำให้ ร.ฟ.ท. เสียค่าโง่แต่ต้น คือปล่อยให้เอกชนหาประโยชน์จากที่มักกะสันได้โดยไม่บังคับให้เอกชนต้องสร้างประโยชน์แก่ ร.ฟ.ท. ข้อพิรุธที่ 3. เจตนาไม่เปรียบเทียบครบทุกทางเลือกหรือไม่? โครงการนี้โฆษณาแก่ประชาชนว่า รถไฟจะใช้ความเร็วสูง 250 กม/ชม แต่เนื่องจากมีสถานี 9 แห่งระหว่างเมือง ซึ่งระยะห่างระหว่างกันไม่มาก รถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 250 กม/ชม จึงไม่สามารถขลอเพื่อหยุดแต่ละสถานีในความเร็วดังกล่าวได้ ปรากฏว่าบอร์ด อีอีซี เปรียบเทียบระหว่างเอกชน 2 กลุ่มที่ยื่นประมูล แต่กลับไม่เปรียบเทียบกับทางเลือกให้ ร.ฟ.ท. ทำรถไฟความเร็วปานกลาง 150-180 กม/ชม - ทั้งที่จะลงทุนเพียง 1 ใน 5 ของรถไฟความเร็วสูง จึงเอาเงินที่เหลือไปพัฒนาประเทศได้หลายด้าน - ทั้งที่จะมีผลดีต่อเศรษฐกิจระหว่างเส้นทางเท่าเทียมรถไฟความเร็วสูง - ทั้งที่ดำเนินการได้เร็วกว่าเพราะใช้พื้นที่เดิม - ทั้งที่ระยะทางระหว่างสถานีที่สั้นทำให้ความเร็วโดยรวมต่างกันไม่มาก นายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานฯ กล่าวว่า บอร์ด อีอีซี ทำโครงการที่ ร.ฟ.ท. เสียเปรียบอย่างหนัก อันผิดวิสัย จึงขอเรียกร้องต่อคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ให้เอาใจใส่ดูแลติดตามเพื่อป้องกันการทุจริตเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะรัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าเป็น “รัฐธรรมนูญปราบโกง” ดังนั้น พรรคร่วมและรัฐมนตรีทุกคนจึงมีหน้าที่ต้องระแวดระวังเพื่อป้องปรามการหาประโยชน์ส่วนตนโดยมิชอบ คณะกรรมการญาติพฤษภา ๓๕ และสภาที่ ๓