ราวกับต้องคำสาป หรือรับมรดกบาป มาจากชาติปางก่อนไหนๆ ก็ไม่ปาน สำหรับ “ซีเรีย” หนึ่งในประเทศทางตะวันตกเฉียงเหนือของภูมิภาคตะวันออกกลาง ที่กำลังเผชิญกับการสู้รบระลอกใหม่ กับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง “ตุรกี” ซึ่งมีศักยภาพเหนือกว่า และพร้อมกว่า ในทุกๆ ด้าน ณ เวลานี้ หลังเริ่มเปิดฉากละเลงเลือดกันไปเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการสู้รบครั้งใหม่ข้างต้น ก็ถือเป็นไฟสงครามที่ลุกโชนขึ้นบนแผ่นดินของซีเรียขึ้นมาอีกระลอก ที่ปะทุขึ้นเผาไหม้ประชาชนชาวซีเรียให้ได้รับความเดือดร้อนกันอีกคำรบ ภายหลังจาก ประชาชีชาวซีเรียแห่งนี้ ต้องทุกข์ระทมกับสงครามมานานเกือบ 9 ปีแล้ว นับตั้งแต่ “สงครามกลางเมือง” ที่ประชาชนชาวซีเรีย ต้องแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย “ต่อต้าน-สนับสนุน” รัฐบาลดามัสกัส ของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ถึงขนาดจัดเป็นกองกำลังติดอาวุธ เข้าห้ำหั่นประจัญบานกันเลยทีเดียว ซึ่งสถานการณ์ของสงครามกลางเมืองที่ว่า ก็เริ่มมาตั้งแต่นับตั้งแต่วันที่เสียงปืนแตก คือ 15 มีนาคม 2554 (ค.ศ. 2010) ถึง ณ ชั่วโมงนี้ การสู้รบก็ยังมียิงโจมตีใส่กัน และวางระเบิดถล่มกันอยู่เนืองๆ ส่วนหนึ่งของสมาชิกฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่รวมตัวต่อสู้กับกองทัพรัฐบาลซีเรีย ในสงครามกลางเมือง (เอเอฟพี) โดย “ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย” หรือที่หลายคนเรียกว่า “กบฎ” ก็มีอยู่หลายกลุ่มแต่ที่นับสู้รบกับกองทัพรัฐบาลของประธานาธิบดีอัสซาดได้อย่างเหนียวแน่นที่สุด แบบยืนหยัดต้านทานกันถึง ณ วินาทีนี้ ก็เห็นจะเป็น “กองทัพประชาธิปไตยซีเรีย” หรือ “เอสดีเอฟ (SDF : Syrian Democratic Forces)” กองทัพรัฐบาลซีเรีย ที่ทางการดามัสกัส ส่งเข้าไปปราบปรามฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ตามเมืองต่างๆ ในช่วงสงครามกลางเมือง (เอเอฟพี) นอกจาก “สงครามกลางเมือง” แล้ว ชาวซีเรีย ก็ผจญชะตากรรมกับ “สงครามก่อการร้าย” ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในผลพวงของสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้น ที่กลุ่มก่อการร้าย ฉวยจังหวะที่เกิด “ภาวะสุญญากาศทางการเมือง” ในซีเรีย สถาปนาเป็นขบวนก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงขึ้นมา ภายใต้ชื่อว่า “รัฐอิสลาม” หรือ “ไอเอส” หรือที่บางคนเรียกว่า “ไอซิส” บ้าง “ไอซิล” บ้าง ในพื้นที่ภาคตะวันออกของซีเรีย คาบเกี่ยวกับทางตอนเหนือของประเทศอิรัก เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน 2557 (ค.ศ. 2014) ก่อนสู้รบกับกองทัพฝ่ายต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา กระทั่งถูกปราบปรามอย่างหนัก จากกองกำลังพันธมิตรฝ่ายต่างๆ จนบรรดาสมาชิกของไอเอส ต้องกระจัดกระจายไปในพื้นที่ต่างๆ เมื่อปี 2559 (ค.ศ. 2016) ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย (เอเอฟพี) อย่างไรก็ดี ในระหว่างนี้ ฉากการละเลงเลือดในซีเรีย มิได้จางหายไปไหน ยังคงมีการสู้รบกันอย่างต่อเนื่องระหว่างฟากข้างต่างๆ ได้แก่ ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กับกองทัพรัฐบาลซีเรีย และกับกลุ่มก่อการร้ายไอเอส ที่ยังหลงเหลืออยู่กระจัดกระจายในแถบภาคเหนือของซีเรีย ที่อำนาจการปกครองของรัฐบาลกลางดามัสกัสไปไม่ถึง สมาชิกกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส เมื่อครั้งบุกเข้ายึดเมืองรักกา ของซีเรีย ในปี 2557 (เอเอฟพี) ล่าสุด “ซีเรีย” ยังคงลุกโหมด้วยไฟสงคราม แถมยังส่งสัญญาณว่า จะเป็นสงครามที่หนักหนาสาหัสอีกต่างหาก เมื่อปรากฏว่า “ตุรกี” ภายใต้การนำของผู้นำตัวจริงเสียงจริงจอมห้าว อย่าง “ประธานาธิบดีเรเซป ตอยยิป เออร์โดกัน” สั่งกวาดล้างชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ทางภาคเหนือของซีเรีย แบบข้ามพรมแดนเข้ามาอย่างไม่สนใจในอธิปไตยของทางการซีเรียเลยทีเดียว กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส ก่อเหตุระเบิดรถยนต์โจมตีชุมชนแห่งหนึ่งในซีเรีย (เอเอฟพี) ด้วยการเปิดฉากมหากาพย์การสงครามด้วย “ยุทธเวหา” โจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในภาคเหนือของซีเรียเป็นปฐม โดยเป็นปฏิบัติการโจมตีภายหลังจากทางการสหรัฐฯ ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สั่งการการให้ถอยทัพพ้นจากซีเรียมาแล้ว หลังจากนั้นอีกไม่กี่เพลาถัดมา รัฐบาลอังการาของตุรกี ก็สั่งกรีธาทัพภาคพื้นดิน ข้ามพรมแดนเข้าไปในภาคเหนือของซีเรีย แบบราวประหนึ่งว่า พื้นที่ดังกล่าว เป็นเขตอธิปไตยของตน ท่ามกลางข้ออ้างว่า เพื่อปราบปรามกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด อาทิ กลุ่มพีเคเค เป็นต้น ที่ทางการอังการาระบุว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย และพร้อมๆ กันนั้น ก็กวาดล้างบรรดาสมุนไอเอสที่ยังหลงเหลืออยู่ในพื้นที่ข้างต้น เครื่องบินรบของตุรกี ทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศเข้าใส่พื้นที่ของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ในเมืองราส อัล-อิน ภาคเหนือของซีเรีย (เอเอฟพี) ส่งผลให้เกิดการสู้รบในพื้นที่บางเมืองอย่างดุเดือด เช่นที่เมืองราส อัล-อิน เป็นอาทิ ซึ่งทางกองกำลังเอสดีเอฟ อันเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย ที่เคยร่วมเป็นพันธมิตรกับชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดมาในช่วงการทำสงครามกำราบไอเอส ก็ต้านทานกองทัพภาคพื้นดินของตุรกี ณ ที่เมืองนั้น ทั้งนี้ สถานการณ์การศึกล่าสุด ปรากฏว่า ได้ก่อเกิดการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างกันขึ้น เมื่อทางชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ที่เคยยืนฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลซีเรีย และเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ได้หันไปจับมือกับรัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดีอัสซาด หลังบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการที่จะสู้รบกับกองทัพตุรกี เช่นเดียวกับ กองกำลังติดอาวุธเอสดีเอฟ ที่เคยขับเคี่ยวกับกองทัพรัฐบาลดามัสกัสมาหลายปีก่อนหน้า ก็พักรบชั่วคราวกันก่อน แล้วหันมาร่วมมือกันเพื่อยืนหยัดต้านทานกองทัพจากแดนไก่งวงที่ล่วงล้ำข้ามพรมแดนเข้ามา กองกำลังภาคพื้นดิน กอปรด้วยรถถัง เป็นต้น ของกองทัพตุรกี บุกข้ามพรมแดนเข้าไปในภาคเหนือของซีเรีย (เอเอฟพี) ขณะที่ ปฏิกิริยาจากนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศ ปรากฏว่า บรรดามหาอำนาจตะวันตก ยกเว้นสหรัฐอเมริกาของประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ส่งเสียงตำหนิวิจารณ์ต่อตุรกีอย่างหนัก ลุ่มวายพีจี ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ด ที่เคลื่อนไหวบริเวณพรมแดนซีเรียกับตุรกี (เอเอฟพี) ไม่ว่าจะฝรั่งเศสและเยอรมี ที่ถึงขนาดประธานาธิบดีแอมานุแอล มากรง ผู้นำฝรั่งเศส พร้อมด้วยนายกรัฐมนตรีหญิง “อังเกลา แมร์เคิล” แห่งเยอรมนี จัดประชุมฉุกเฉินของเหล่าบรรดาผู้นำชาติสมาชิกสหภาพยุโรป หรืออียู กันเลยทีเดียว เพื่อหารือถึงสถานการณ์ในซีเรีย ก่อนมีเสียงตำหนิวิจารณ์ต่อตุรกีที่กระทำการกันเยี่ยงนี้ เช่นเดียวกับ “สหประชาชาติ” โดย “สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม” นอกจากไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรงต่อตุรกีที่ส่งกองทัพบุกเข้าไปในภาคเหนือของซีเรียแล้ว ก็ยังแสดงความวิตกต่อสถานการณ์การอพยพของประชาชนในพื้นที่ หลังมีรายงานว่า ประชาชนทั้งชาวซีเรียและชาวเคิร์ดจำนวนกว่า 130,000 คน ที่ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านเรือนเพื่ออพยพหนีภัยสงครามแล้ว ก็ยังกังวลต่อกรณีที่นักโทษไอเอสจำนวนราว 800 คน หลบหนีออกจากเรือนจำในภาคเหนือของซีเรีย ระหว่างที่มีการสู้รบครั้งล่าสุดด้วย ซึ่งกลุ่มนักโทษไอเอสเหล่านี้ ล้วนเป็นบุคคลอันตรายทั้งสิ้น เพราะผ่านการฝึกฝนด้านการสู้รบตลอดจนการก่อการร้ายสารพัด ชนกลุ่มน้อยชาวเคิร์ดในภาคเหนือของซีเรีย พากันทิ้งบ้านอพยพหนีภัยสงคราม จากเหตุกองทัพตุรกีบุกข้ามพรมแดนเข้ามา (เอเอฟพี)