“FPI”เผยแนวโน้มผลงานโค้งหลังโตแรง หนุนรายได้ปี 62 โตเกิน 10% ตามเป้า อานิสงส์ยอดขายออเดอร์ใหม่ไหลเข้าต่อเนื่อง ดัน Backlog พุ่งแตะ 800 ล้านบาท พร้อมงัดกลยุทธ์ Triangle Trade สู้ศึกสงครามการค้า คาดงาน OEM ในช่วง 3 ปีข้างหน้าโตแรง จับตาปี 64 ทะลุ 1,000 ล้านบาทจากปีนี้คาดอยู่ที่ 450 ล้านบาท นายสมพล ธนาดำรงศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟอร์จูน พาร์ท อันดัสตรี้ จำกัด(มหาชน) (FPI) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรก โดยได้รับปัจจัยหนุนจากออเดอร์ใหม่ที่มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) 800 ล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 450 ล้านบาท และในช่วงที่ผ่านมาได้เจรจางานด้าน OEM กับทาง Toyota และ Nissan ซึ่งมีมูลค่างานรวม 335 ล้านบาท “เรายังคงวางเป้าหมายแนวโน้มรายได้ในปีนี้เติบโต 10% ขณะที่ในส่วนของกำไรสุทธิตั้งเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 10% ของรายได้รวม จากช่วงครึ่งปีแรกสามารถทำได้ 8.71% แล้ว โดยบริษัทจะเน้นการบริหารจัดการต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเน้นการผลิตสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูง เช่นอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เน้นการสร้างแบรนด์ของบริษัทเอง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มาร์จิ้นให้ดีขึ้น” ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบปัญหาสงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ และเดินหน้าขยายฐานลูกค้าใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ ควบคู่ไปกับการเจรจารับงานใหม่ๆเข้ามาต่อเนื่อง และได้มีการลงทุนในสินค้าใหม่ๆเพื่อที่จะขยายตลาดไปยังผู้บริโภคโดยตรง นอกจากนี้ได้มีการมีการปรับรูปแบบการค้าโดยใช้รูปแบบ Triangle trade หรือการค้าแบบ 3 ฝ่าย โดยย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่สาม และส่งออกไปให้กับลูกค้าในต่างประเทศโดยการติดยี่ห้อ และการควบคุมมาตรฐานจากบริษัท โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีนต้องการที่จะย้ายฐานการผลิตเข้ามายังประเทศไทยมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้า คาดเห็นความชัดเจนในปีนี้ สำหรับตลาดส่งออกหลักของบริษัทฯอยู่ในเอเชีย และตะวันออกกลาง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 29.48% รองลงมาคือ อเมริกากลางและใต้อยู่ที่ 13.02% ส่วนในประเทศอยู่ที่ 0.79% ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการรับงานใหม่ๆ บริษัทได้มีการขยายพื้นที่ส่วนของงานด้านวิจัยและพัฒนา(R&D) เพิ่มอีกกว่า 64,000 ตรม.ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จประมาณ 70% คาดว่าจะสามารถเข้าใช้งานได้ในไตรมาส 4/62 และขยายการลงทุนแม่พิมพ์ใหม่ๆเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังคาดว่างาน OEM ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก ตั้งเป้าภายใน 3 ปีข้างหน้า (2562-2564) จะมีรายได้จากงาน OEM มูลค่า 500 ล้านบาท 700 ล้านบาท และ 1,000 ล้านบาท ตามลำดับ