นครตรังพร้อมเดินหน้าสร้างความรู้การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS) และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ขณะที่ผู้ว่าฯสั่งติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ให้ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอ เพื่อช่วยเหลือและให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ นางกรรณิการ์ บังเลิศ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวการช่วยชีวิตผู้ป่วยหมดสติ หยุดหายใจ ในสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง เมื่อเร็วๆนี้ ขณะที่นักกีฬาฟุตบอลกำลังฝึกซ้อมในสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง เกิดเหตุมีนักฟุตบอลชาย อายุ 60 ปี มีอาการวูบ ล้มลงหมดสติ หยุดหายใจ และได้รับการช่วยเหลือด้วยการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) อย่างถูกต้อง และใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ภายในระยะเวลา 4 นาทีหลังจากหัวใจหยุดเต้น จึงเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้ นางกรรณิการ์ เปิดเผยต่อไปว่า ดังนั้น เทศบาลนครตรังได้ตระหนักถึงความสำคัญและจำเป็นในเรื่องดังกล่าว และพร้อมดำเนินการจัดการฝึกอบรม “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (BLS) และการใช้เครื่องกระตุกไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED)” แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง ต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2563 เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ( AED) สามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลันได้อย่างถูกวิธี รวดเร็ว ทันท่วงที เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตแก่ผู้ที่มีจากภาวะหัวใจหยุดเต้นฉับพลัน ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกที่ และทุกเวลา “ทั้งนี้ จุดติดตั้งเครื่อง AED เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าภายในเขตเทศบาลนครตรังประกอบด้วยจุดที่ 1 บริเวณสระว่ายน้ำสนามกีฬากลางเทศบาลนครตรัง จุดที่ 2 บริเวณสนามเทนนิสสนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 ทุ่งแจ้ง จุดที่ 3 บริเวณป้อมยามอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ จุดที่ 4 บริเวณป้อมยาม ตรงทางเข้าด้านหน้าสวนสาธารณะสระกะพังสุรินทร์ จุดที่ 5 บริเวณฟิตเนสนางฟ้าสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เขาแปะช้อย และจุดที่ 6 บริเวณป้อมยามตรงทางเข้าด้านหน้าสวนสาธารณะสมเด็จพระศรีนครินทร์ 95 เขาแปะช้อย” นางกรรณิการ์ กล่าว ด้าน นายลือชัย เจริญทรัพย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า จังหวัดตรัง ได้รับการสนับสนุนเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED จำนวน 15 เครื่อง ซึ่งจะได้ดำเนินการนำไปติดตั้งในสถานที่สาธารณะที่เหมาะให้ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอของจังหวัดตรัง เพื่อให้เพียงพอต่อการช่วยเหลือประชาชนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งที่ผ่านมา เครื่อง AED ที่ทางเทศบาลนครตรัง นำไปติดตั้งที่สนามกีฬา สามารถช่วยฟื้นคืนชีพผู้ป่วยฉุกเฉินให้สามารถรอดชีวิตได้ “อย่างไรก็ตาม ผมได้เน้นย้ำเรื่องการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครบวงจรและระบบส่งต่อ เพื่อให้ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและป้องกันภาวะทุพพลภาพที่อาจเกิดขึ้น ทั้งในภาวะปกติและภาวะภัยสุขภาพด้วย” นายลือชัย กล่า