เพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง ได้เปิดเผยข้อมูลว่า “หาดทรายกลางลำน้ำโขงยามน้ำท่วมคือบ้านของหอยนานาชนิด หอยจะอาศัยตามรากกอไคร้ หอยจะกินแพลงก์ตอนและปลาจะมากินหอย ที่ไหนมีหอย ที่นั่นจะมีปลานักล่า แต่วันนี้หอยตายเกลื่อนหาดเพราะน้ำโขงแห้ง หอยลงตามน้ำไม่ทัน หอยจำนวนมากพยายามดิ้นรนเพื่อให้ชีวิตรอดด้วยการมุดลงทราย แต่ระดับน้ำกลับลดลงเรื่อยๆ จนแห้ง และเมื่อน้ำโขงกลายเป็นหาดทรายหอยก็จะขึ้นที่ปากรูก่อนจะตายเพราะความร้อนระอุจากแดดที่เผา ภาพที่เห็นคือรูที่หอยพยายามเอาตัวรอดด้วยการมุดทราย ซึ่งกระจายทั่วหาด จนเรียกได้ว่าสุสานหอย ขณะที่หอยที่เกาะตามรากต้นไคร้ก็ตายและเน่า ถูกแมลง มด และหนูกิน เหลือแต่เปลือก การที่หอยตายเกือบหมด เท่ากับตัดห่วงโซ่อาหาร และจะกระทบต่อปลากินเนื้อที่จะขาดแคลนอาหาร ภาพนี้ถ่ายที่บ้านห้วยค้อ อ.สังคม จ.หนองคาย” สำหรับพื้นที่ดังกล่าวอยู่ใน ต.บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย ซึ่งผลกระทบจากวิกฤตแม่น้ำโขงในขณะนี้ ทำให้ระบบนิเวศของ “พันโขดแสนไคร้” ตำบลบ้านม่วง อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย กำลังย่ำแย่อย่างรุนแรงแหล่งพันธุ์ปลาตายเพราะขาดน้ำ โดยจากการสำรวจในแม่น้ำโขงฝั่งไทย ในจุดที่เรือพอเข้าถึงได้จะพบสันดอนทรายและแก่งหินโผล่ขึ้นจำนวนมาก และบางจุดไม่เคยพบเห็นมาก่อน วิถีชีวิตของคนที่นี้แหล่งอาหารที่ใหญ่ที่สุดคือแม่น้ำโขง ปัจจุบันไม่สามารถหากินได้เหมือนเดิม แต่สิ่งที่พบตอนนี้พันธุ์ปลาหลายชนิดนอนตายส่งกลิ่นเน่าเหม็นไปทั่วบริเวณพันโขดแสนไคร้ แม้แต่ต้นไคร้น้ำแหล่งอาศัยพันธุ์ปลายืนต้นตายอย่างหน้าใจหาย วิกฤตแม่น้ำโขงไม่ได้มีผลกระทบแค่คนหาปลา ที่ผ่านมาภาครัฐเคยผลักดันการท่องเที่ยววิถีชุมชนลุ่มน้ำโขง ดึงเอาเอกลักษณ์ความมีเสน่ห์ของแม่น้ำโขงมาเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านตำบลบ้านม่วงบอกตรงกันว่า เป้าหมายความรุ่งเรืองท่องเที่ยววิถีชุมชนอาจไปไม่ถึงฝั่งฝันหากน้ำโขงยังวิกฤตอยู่แบบนี้เสน่ห์ริมน้ำโขงอาจสูญหายไป วิกฤตแม่น้ำโขงแห้งแล้ง ความผันผวนของระดับเปลี่ยนแปลงไปจากธรรมชาติ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ต่างระบุว่าตัวการที่ทำให้เกิดปัญหานี้คือเขื่อนลาวสัญชาติไทยที่ชื่อว่า “เขื่อนไซยะบุรี” ที่ผ่านมาชาวบ้านและองค์กรเอกชนพยายามสะท้อนปัญหาออกไปสู่ภายนอกเพื่อต้องการรักษา วิถีชีวิตดั้งเดิมเอาไว้ให้คนรุ่นหลัง. ขอขอบคุณข้อมูลภาพข่าว จากเพจ Mekong Voice เสียงจากลำน้ำโขง ภัทรวินทร์ ลีปาน หนองคาย