ค่าเงินเป็นเรื่องที่ กนง.ห่วงใยจึงให้แบงก์ชาติติดตามผลต่อเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และให้สามารถดำเนินมาตรการอย่างเหมาะสมและตรงจุดได้ ซึ่งปัจจัยที่กระทบอัตราแลกเปลี่ยนของไทยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 4 ปัจจัยสำคัญได้แก่ 1.สถานการณ์ต่างประเทศ 2.การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง 3.การส่งออกทองคำของไทย 4.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ที่มากขึ้น สำหรับการไหลเข้ามาลงทุนในหลักทรัพย์ไทย (Portfolio investment) ในบางช่วงเพิ่มขึ้นเพราะต่างชาติมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยในการลงทุน (Safe Haven) บางส่วนต้องการปรับพอร์ตการลงทุนให้สอดคล้องกับดัชนีอ้างอิงการลงทุน ซึ่งปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนไทย รวมทั้งมีกลุ่มที่พยายามเก็งกำไรเข้ามาพักเงินเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ดังนั้นแบงก์ชาติจึงเพิ่มความเข้มงวดในการติดตาม Portfolio Flow รวมทั้งปรับเกณฑ์ Non-resident Baht Account ให้เข้มงวดขึ้น โดยเริ่มทำในช่วงปลายเดือน ก.ค.และตั้งแต่นั้นมา Portfolio flow ไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่กดดันค่าเงินบาท มาตรการที่แบงก์ชาติจะนำมาดูแลเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลดแรงจูงใจในการเอาเงินเข้ามาพักในระยะสั้น ๆ และทำให้เงินทุนไหลเข้าสมดุลกับเงินทุนไหลออกมากขึ้นได้แก่ 1.การผ่อนคลายเกณฑ์ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน (Foreign Exchange Liberalization) ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วนและกระบวนการด้านกฎหมาย คาดจะประกาศได้ภายใน 1-2 เดือนอาทิ ให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน,ผู้ส่งออกสามารถพักเงินในต่างประเทศได้มากขึ้น ไม่ต้องนำกลับเข้ามาในไทย,มีผู้เล่นใหม่ๆเข้ามาเป็นผู้ให้บริการธุรกรรมมากขึ้น สร้างทางเลือกให้ผู้ส่งออกไทย ลดค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ 2.ดูแลการซื้อขายเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทองคำ การซื้อขายทองคำมีลักษณะเป็นการลงทุนเช่นเดียวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ แต่สร้างผลข้างเคียงต่อค่าเงิน ต้องมาดูกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ไม่ได้ห้ามการลงทุนซื้อขายทองคำ แต่จะเป็นการทบทวนกฎเกณฑ์เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายทองคำไม่มีแรงกระแทกกับค่าเงินมากเกินไป 3.ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (current account: CA) ที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งที่ผ่านมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2015 มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึงร้อยละ 11.5 ของ GDP ตอนนี้อยู่ที่ร้อยละ 6.3 ของ GDP จะเห็นว่าลดลงครึ่งหนึ่งในช่วงที่ผ่านมา และยังสามารถทำเพิ่มเติมได้โดยเร่งการลงทุนและการนำเข้า เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่อีกประเด็นหนึ่งคือ การลดกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นต้นทุนแฝง การทำแพลทฟอร์มต่างๆให้เข้าถึงง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุนแฝงของการลงทุนได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs เช่น การทำ one stop service การยกเลิกกฎเกณฑ์เดิมที่เคยใช้ในโลกยุคเก่าแต่ไม่สอดคล้องในโลกยุคใหม่จะช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจของเอกชนลงได้มาก