ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยมีพระราชประสงค์ให้มหาวิทยาลัยตั้งชื่อทุนนี้ว่า “ทุนภูมิพล” และเพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านที่มีต่อมหาวิทยาลัย และนักศึกษาที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกได้รับทุนภูมิพลเกิดความภาคภูมิใจ มหาวิทยาลัยจึงให้นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษาเข้ารับพระราชทานทุนภูมิพลในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งคุณสมบัติของผู้ขอรับทุนการศึกษา เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลระดับปริญญาตรี กำลังศึกษาชั้นปีที่ 3ขึ้นไป ผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า3.00 ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา มีความประพฤติดี สุภาพเรียบร้อย และมีผลงานเด่นด้านกิจกรรม โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษารับรอง เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม2562 ที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานทุนภูมิพลประจำปี 2562 แก่ นายสิวลี วงศ์สว่างพานิช นักศึกษาชั้นปีที่ 3วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปีการศึกษา2561ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เรืออากาศโททันตแพทย์ชัชชัย คุณาวิศรุต รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน “ทุนภูมิพล” ว่า หลักเกณฑ์สำคัญอันดับหนึ่งของการคัดเลือกผู้รับทุนคือ เราต้องเลือกคนดี ทำกิจกรรมเพื่อสังคม มีจิตสาธารณะช่วยเหลือผู้อื่น โดยทำมาจากใจ ซึ่งการคัดเลือกจะค่อนข้างเข้มข้น เนื่องจากเป็นทุนแห่งเกียรติยศ ที่ผู้ได้รับคัดเลือกจะได้เข้ารับพระราชทานในงานปริญญาประจำปีของมหาวิทยาลัย คณะกรรมการจึงได้มีการซักถาม สืบประวัติจากทางคณะ และจากเพื่อนๆ จนทำให้ได้ผู้ที่เหมาะสมที่สุด นายสิวลี วงศ์สว่างพานิช หรือ “เสือ” ผู้ได้รับพระราชทานทุนภูมิพล ประจำปี 2562 กล่าวว่า “ส่วนตัวมองว่าการทำกิจกรรมมีส่วนช่วยส่งเสริมทำให้ได้เป็นตัวเองอย่างในทุกวันนี้ เมื่อก่อน “เสือ” ไม่ใช่คนพูดเก่ง ถึงขนาดเคยตื่นเวทีจนคลื่นไส้ แต่เดี๋ยวนี้พูดได้คล่อง เนื่องจากตอนทำกิจกรรมได้รับหน้าที่เป็นพิธีกร พอทำได้ครั้งหนึ่งแล้วรู้สึกมั่นใจที่จะทำอีกในครั้งต่อๆ ไป” “เสือ” เล่าว่า “ตอนเรียนปีหนึ่งได้ร่วมทำกิจกรรมแทบทุกอย่าง ตั้งแต่ประชุมรับน้อง ประชุมเชียร์ Open House ตลอดจนทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะประโยชน์ต่างๆ ทั้งค่ายวิทยาลัยฯ และค่ายโครงการรากแก้ว ซึ่งเป็นโครงการจิตอาสาของมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งรากแก้วท่องเที่ยว และรากแก้วเกษตร ซึ่งในส่วนของรากแก้วท่องเที่ยว ได้มีส่วนช่วยในการทำแผนที่ศึกษาชุมชน ส่วนรากแก้วเกษตร ได้ร่วมกับรุ่นพี่ทำโครงการเก็บผักตบชวามาทำเป็นปุ๋ยปลูกผักออร์แกนิคขาย ตอนอยู่ปีสองส่วนใหญ่จะหนักไปทางเรียน แต่ก็ยังไม่ทิ้งกิจกรรม กลับมาทำช่วงปิดเทอม ในส่วนของค่ายวิทยาลัยฯ ค่ายโครงการรากแก้ว ค่ายLeadership และได้เป็นประธานโครงการประชุมเชียร์และรับน้องของวิทยาลัยฯ พอขึ้นปีสาม ก็ได้ขึ้นเป็นประธานโครงการรากแก้วแทนรุ่นพี่ที่เป็นประธานคนก่อนซึ่งจบการศึกษาพอดี” เมื่อถามถึงความมุ่งหมายทางการศึกษา “เสือ” กล่าวว่า “เมื่อตัวเองจบการศึกษา ตั้งใจจะทำงานสายอาจารย์มากกว่า โดยอยากจะสอนในวิชาที่ชื่อว่า “คติชนวิทยา” ซึ่งเป็นวิชาที่ตัวเองสนใจ เป็นการมองคนผ่านความเชื่อ วัฒนธรรม และความเป็นอยู่ ส่วนตัวชอบอ่านหนังสือพวกตำนานเทพ ตั้งใจว่าจะลองนำตำนาน หรือพระสูตรมาแปลเป็น thesisต่อไป” สาเหตุที่ “เสือ” ชอบด้านศาสนา คติชนวิทยา และการสื่อสาร เนื่องจากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นช่าง ทำงานด้านศิลปะ จึงผลักดันให้ “เสือ” ได้เรียนโขนกับ “พ่อเทิด” หรือคุณครู ราฆพ โพธิเวส ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งต่อมา “เสือ” ได้นำวิชาโขนมาประยุกต์ใช้ในการทำกิจกรรมต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเช่น การแสดงกิจกรรมเทศน์มหาชาติ (พระเวสสันดรชาดก13กัณฑ์) ที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยได้มีส่วนทั้งในการออกแบบการแสดง และเครื่องแต่งกาย "อยากขอบคุณครูบาอาจารย์ทุกท่าน และพี่ๆ ทุกคนที่ทำให้ตัวเองได้มีทุกวันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รองศาสตราจารย์ ดร.พินิจ รัตนกุล ผู้ก่อตั้งและอดีตคณบดีวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.คุณหญิงสุริยา รัตนกุล ซึ่งเป็นคู่ชีวิตของท่าน และเป็นอีกปูชนียบุคคลของวิทยาลัยฯ โดยอาจารย์พินิจเป็นผู้สอนให้คิดอย่างมีระบบ ให้รู้จักหาความหมายของชีวิต ให้เราคิดต่อยอดเป็น จากการเรียนวิชา “Critical Thinking” ที่มีการสอนปรัชญาผ่านภาพยนตร์ โดยสอนให้นักศึกษาได้ดูหนังแล้วคิดตาม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้กับวิชา “อารยธรรมโลก” ที่อาจารย์คุณหญิงสอนในอีกหลายๆ ด้าน โดยท่านสอนในเรื่องกระบวนการคิด ฝึกนักศึกษาคิดให้ลึก คิดให้ไกล คิดให้รอบคอบ นอกจากนี้ มักบอกพวกเราเสมอว่า “อย่าถามเอาแต่ข้อมูลจากครู แต่ให้ถามว่าครูคิดอย่างไรถึงให้ข้อมูลนั้น” ซึ่งความที่ท่านเป็นผู้รอบรู้ ไม่ได้เกิดจากการท่องจำ แต่เกิดจากความสามารถในการเชื่อมโยง” “เสือ"”กล่าวด้วยความเทิดทูน “มีข้อสอบ “พลิกโลก” ของอาจารย์คุณหญิงข้อหนึ่งถามว่า “ท่านคิดว่าอาเซียนใน20ปีข้างหน้าจะเป็นไปในทิศทางใด” “เสือ” ตอบไปว่า “กลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียนจะจับมือกัน” เนื่องจากได้นึกไปถึงพระราชดำรัสของในหลวงร.9 ที่ว่าจริงๆ แล้ว อาเซียนส่วนใหญ่เป็นชุมชนเกษตร สิ่งที่ขาดแคลนที่สุดตอนนี้คือ “อาหาร” ดังนั้น หากเรารวมตัวกันได้ จะมีอำนาจต่อรองมากกว่าโอเปก เพราะว่าทุกคนต้องกินข้าว ในขณะที่เราสามารถหาพลังงานอื่นมาใช้ทดแทนน้ำมันได้” “นอกจากนี้ ในหลวง ร.9 ทรงเป็นต้นแบบในอีกหลายด้าน อย่างทุนที่ได้รับนี้ก็ชื่อ “ทุนภูมิพล” ซึ่งตัวเองมองว่าเป็นเกียรติยศสูงสุดของชีวิตการเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล โดยตั้งใจว่าจะนำทุนที่ได้ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รู้สึกโชคดีที่ได้เลือกเรียนในสิ่งที่อยากจะเรียนจริงๆ จึงสามารถทำคะแนนได้สูงกว่าเกณฑ์ที่ทุนประกาศ กล่าวคือมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม3.80 และก็ยังสนุกกับการทำกิจกรรมอีกด้วย” ทั้งนี้ “เสือ” ยังกล่าวว่า “ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยมหิดลจะจัดงาน “มหิดลวิชาการ เปิดบ้านมหิดล ประจำปี 2562” ระหว่างวันที่ 1 – 2พฤศจิกายน2562 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ซึ่งภายในงานจะมีการเสวนา “มหิดลTCASประจำปีการศึกษา2563” กิจกรรมMahidol Open Houseแนะนำคณะต่างๆ นอกจากนี้ จะมีกิจกรรมMU Festival โดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล การตอบคำถามชิงรางวัล และการแสดงดนตรีจากนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้มหิดล มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จึงเชิญชวนให้น้องๆ ม.ปลาย และผู้ปกครองที่สนใจมาชมบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับของที่ระลึกในงานได้ที่ https://mahidol.ac.th/openhouse/2019 ภายในวันที่ 15ตุลาคม2562” “สิ่งที่อยากจะกล่าวฝากถึงน้องๆ ที่สนใจจะมาเรียนที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่น้องๆ จะได้เรียนกับพระ ซึ่งจะทำให้น้องๆ ได้ฝึกวางตัวในสังคม โดยเมื่อน้องๆ วางตัวกับพระเป็น แล้วก็จะวางตัวกับคนอื่นได้งดงามขึ้นกว่าเดิม” “เสือ” กล่าวทิ้งท้าย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กรฯ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา