โฆษกพรรคอนาคตใหม่เดินทางไปเยี่ยมประชาชนที่สกลนคร พร้อมแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในพื้นที่ด้านการพัฒนาผ้าย้อมคราม สินค้าพื้นเมืองขึ้นชื่อ และเข้าเยี่ยมอโรคยศาลา วัดคำประมง ที่ประสบความสำเร็จในการใช้สมุนไพรไทย รวมถึงกัญชา บำบัดมะเร็ง วันที่ 12 ต.ค.นางสาวพรรณิการ์ วานิช ผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ พร้อมด้วยทีมงานจังหวัดสกลนคร และอดีตผู้สมัครส.ส.สกลนครของพรรคทั้ง 6 เขต เข้าชมโรงงานทอผ้าย้อมครามของกลุ่มแม่บ้านบ้านดอนกอย อ.พณานิคม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรที่เข้มแข็ง ทำวิสาหกิจทอผ้ามาเกือบ 20 ปี ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 50 คน สร้างรายได้ให้กับแม่บ้านเฉลี่ยเดือนละ 9,000-10,000 บาทต่อคน ซึ่งเป็นจำนวนที่กลุ่มแม่บ้านพอใจ อย่างไรก็ตาม นางสาวพรรณิการ์กล่าวว่า จากการพูดคุยสอบถาม พบว่าการทำผ้าย้อมครามประสบปัญหาสำคัญคือขาดคนทอผ้ารุ่นใหม่ๆ เพราะแม้ปัจจุบันกระแสความนิยมผ้าย้อมครามจะทำให้ธุรกิจนี้กลับมาคึกคัก แต่คนส่วนใหญ่ที่เข้ามาทำ สนใจเพียงงานด้านออกแบบและทำการตลาด แต่คนทอผ้า เรียนรู้เทคนิคการทำลวดลายผ้า กลับแทบไม่มีเลย “ปัจจุบันคนทอผ้ามีแต่คนวัย 50 ปีขึ้นไป อย่างที่นี่ คนทอทั้งโรงมีวัยรุ่นเพียง 2 คน ถ้าเป็นแบบนี้ ธุรกิจผ้าย้อมครามจะพัฒนาเพิ่มมูลค่าไม่ได้ เพราะราคาสินค้าจะขายได้สูง ต้องอาศัย story ของการทำมือ ความแฮนด์เมด ภูมิปัญญาที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น พรรคอนาคตใหม่ต้องการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ๆทำธุรกิจในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดงานที่มีคุณภาพในต่างจังหวัด การสร้างงานที่มีคุณภาพ มีรายได้สูง จะสร้างแรงจูงใจให้คนหนุ่มสาวทำงานในท้องถิ่น พัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เติบโตโดยใช้ต้นทุนจากภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะออกนโยบายอำนวยความสะดวกให้เกิดธุรกิจขนาดกลางและเล็กในท้องถิ่น และช่วยหาตลาดระดับไฮเอนด์ให้กับสินค้าเหล่านี้ ซึ่งในปัจจุบันมีตลาดเปิดรออยู่แล้วในญี่ปุ่น ลาว ออสเตรเลีย อินเดีย” หลังจากได้ทดลองย้อมครามและชมการทอผ้าลวดลายต่างๆของกลุ่มทอผ้าดอนกอย ทีมอนาคตใหม่ยังได้เดินทางไปเยี่ยมอโรคยศาลวัดคำประมง ซึ่งเปิดรับบำบัดดูแลผู้ป่วยมะเร็งมานานกว่า 15 ปี ดูแลผู้ป่วยกว่า 6,000 ราย ด้วยสมุนไพรไทยและการบำบัดทางเลือก เช่นดนตรีบำบัด ธาราบำบัด การทำโยคะ และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาลแม้แต่บาทเดียว นางสาวพรรณิการ์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพระอาจารย์ปพนพัชร์ จิรธัมโม ผู้บุกเบิกอโรคยศาล และเจ้าหน้าที่พยาบาล เกี่ยวกับการใช้กัญขาในการรักษาโรค เนื่องจากอโรคยศาลมีประสบการณ์ใช้น้ำมันกัญชาที่จึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย บำบัดผู้ป่วยมะเร็งมาแล้วถึง 180 ราย ไม่ว่าจะเป็นการบำบัดอาการชักจากมะเร็งสมอง การหยดน้ำมันกัญชาใต้ลิ้นเพื่อระงับปวดในมะเร็งกระดูก หรือการใช้ยาหม่องและน้ำมันกัญชาบรรเทาอาการอักเสบติดเชื้อในแผลมะเร็งที่ทวาร พระอาจารย์ปพนพัชร์ให้ความเห็นว่าการใช้กัญชารักษาอาการต่างๆของมะเร็ง ได้ผลดี แต่ติดที่กฎหมายยังไม่เปิดกว้าง ทำให้ยังไม่มีงานวิชาการมากพอในการรับรองผลจากการใช้กัญชารักษาโรคต่างๆ และไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญพอ นอกจากนี้ แม้กฎหมายอนุญาตให้สถานพยาบาลทำคลีนิกกัญชาได้ ก็อาจยังไม่ได้การันตีว่าผู้ป่วยจะได้เข้าถึงดัญขา เพราะแพทย์เจ้าจองไข้อาจไม่ส่งตัวไปยังคลีนิกกัญชา เรื่องจากไม่เชื่อมั่นในยาทางเลือก ขณะที่นางสาวพรรณิการ์มองว่า สกลนครมีศักยภาพในการเป็นเมืองศูนย์กลางด้านการแพทย์ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสามารถดึงเอากัซขามาเป็นพระเอกชูโรงได้ “สกลนครได้รับการยอมรับว่าเป็นพื้นที่เหมาะกับการเพาะปลูกกัญชา และวิสัยทัศน์จังหวัดก็ต้องการพุ่งเป้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการรักษาพยาบาล หากรวม 2 เรื่องนี้เข้าด้วยกันจะเป็นการพลิกโฉมสกลนคร สู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) เน้นสมุนไพร การแพทย์ทางเลือก ธรรมชาติบำบัด โดยอาจประกาศให้สกลนครเป็นพื้นที่ยกเว้นพิเศษ ใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ เหมือนที่เคยมีมาแล้วในหลายประเทศ เราจะสามารถเพิ่มเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวได้อีกมหาศาล จากที่ปัจจุบันการท่องเที่ยวในสกลนครทำเงินเพียง 2,300 ล้านบาทต่อปี และนี่คือนโยบายกัญชาแบบพรรคอนาคตใหม่”