บ้านตอหลังและบ้านทรายขาว เป็นหมู่บ้านหนึ่งของตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ตั้งอยู่บริเวณขอบพรุโต๊ะแดง เดิมมีสภาพพื้นที่เป็นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมขัง ลักษณะดินเป็นดินเหนียว เหมาะสมในการทำนาปลูกข้าว เมื่อมีการระบายน้ำออกและทำนาในช่วง 1 - 3 ปีแรก ข้าวให้ผลผลิตได้ดี แต่เมื่อปลูกข้าวต่อเนื่องผลผลิตข้าวกลับน้อยลง เนื่องจากดินแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เกษตรกรบ้านตอหลัง-ทรายขาว จึงปล่อยให้เป็นพื้นที่ทิ้งร้าง เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2518 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดตอหลัง ตำบลไพรวัน อำเภอตากใบ ทอดพระเนตรพื้นที่นาร้างของบ้านตอหลัง และวันที่ 11 ตุลาคม 2535 ได้เสด็จฯ ไปยังบ้านตอหลังอีกครั้ง ต่อมาในปี 2540 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้มีพระราชเสาวนีย์ ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ช่วยพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดให้เกษตรกรบ้านตอหลัง สามารถปลูกข้าวได้ดังเดิม ศูนย์ฯ จึงได้พัฒนาพื้นที่ในปี 2541 โดยจัดทำแปลงสาธิตการปลูกข้าวในพื้นที่ 509 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 96 ราย พร้อมสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์จันทร์เต๊ะ ลูกนาก จันทร์หอม ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 34 ถัง/ไร่ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2541 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในแปลงนา ต่อมาในปี 2542 ศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาปรัง จำนวน 392 ไร่ (ในพื้นที่เดิม 509 ไร่) พร้อมสนับสนุนพันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 90 และข้าวหอมคลองหลวง 1 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 42 ถัง/ไร่ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2542 พระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง ในการนี้ทรงเกี่ยวข้าวในแปลงนาของโครงการฯและได้มีพระราชดำริกับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ ความว่า “…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คงจะปลื้มใจที่ราษฎรปลูกข้าวได้ผลดี ทุกวันที่ทั่วโลกช่วยกันก่อสร้างอาหาร ทุกส่วนราชการควรช่วยกันทำงาน โดยกลับไปตำหนักฯ วันนี้จะโทรศัพท์รายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว...” และ “...ให้ขยายพื้นที่ปลูกข้าวที่บ้านตอหลัง และ บ้านทรายขาวให้มากขึ้น...” ปี 2543 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ขยายผลพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มอีก 455 ไร่ สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์จันทร์หอม หอมแก่นจันทร์ และพันธุ์ลูกนาก ได้ผลผลิตเฉลี่ย 40 ถัง/ไร่ และในวันที่ 5 กันยายน 2543 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปยังโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว ในการนี้ทรงหว่านข้าวในพื้นที่แปลงตกกล้ารวมของเกษตรกร ซึ่งเป็นขวัญและกำลังใจแก่เกษตรกรในพื้นที่อย่างหาที่สุดมิได้ ต่อมาในปี 2544 – 2546 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ขยายผลการพัฒนาพื้นที่เพื่อปลูกข้าวเพิ่ม จำนวน 885 ไร่ สนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์เล็บนก เฉี้ยงพัทลุง หอมกระดังงา หอมแก่นจันทร์ ลูกนาก และพันธุ์จันทร์เต๊ะ ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 40 – 45 ถัง/ไร่ ในปี 2547 – 2554 เกษตรกรได้ทำนามาอย่างต่อเนื่องและขยายพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในขณะเดียวกันเกษตรกรบางส่วนได้ขุดคูยกร่องเพื่อปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน ปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน และปลูกพืชผักพืชไร่ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว และทอดพระเนตรพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ปลูกในพื้นที่ดินเปรี้ยว ในการนี้ ทรงเยี่ยมเกษตรกรในโครงการฯ ที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จ ด้วยน้ำพระทัยของทุกพระองค์ที่ทรงห่วงใยเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้ ทำให้เกษตรกรรู้สึกปลาบปลื้มเป็นยิ่งนัก และได้ทำนาปลูกข้าวมาอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2555 – 2557 เกษตรกรประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่อย่างรุนแรง อีกทั้งการระบาดของโรคฉี่หนู ทำให้เกษตรกรไม่สามารถลงเตรียมพื้นที่ทำนาได้ ต้องปล่อยพื้นที่ทิ้งร้างอีกครั้ง ช่วงปลายปี 2557 ยังมีพื้นที่ให้เกษตรกรปลูกข้าวเพียง 150 ไร่ โดยปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ทั้งหอมกระดังงา เฉี้ยงพัทลุง และพันธุ์เล็บนก ได้ผลผลิตเฉลี่ย 45ถัง/ไร่ จากการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว สามารถใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ได้ ในปี 2558 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้ขยายผลการพัฒนาพื้นที่โครงการฯ เพิ่มขึ้น โดยยึดพื้นที่ ที่อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางนรา ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่ บ้านตอหลัง หมู่ที่ 3 จำนวน 1,570 ไร่ และบ้านทรายขาว หมู่ที่ 2 จำนวน 1,430 ไร่ มีประชากร 125 ครัวเรือน ซึ่งได้ร่วมกันวางแผนกับเกษตรกรในโครงการฯเพื่อดำเนินงานพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่องโดยมีการพัฒนาและฟื้นฟูพื้นที่นาร้างพร้อมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรที่ทำนาได้มีการรวมกลุ่มเพื่อความสะดวก ในการบริหารจัดการในพื้นที่ การจัดการน้ำ และการจัดการผลผลิต รวมไปถึงการเข้าถึงองค์ความรู้และการรับการสนับสนุนด้านต่างๆ จากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้สนับสนุนการไถเตรียมพื้นที่เพื่อปลูกข้าว พื้นที่ 512 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ จำนวน 78 ราย พร้อมสนับสนุนพันธุ์ข้าวหอมกระดังงา เฉี้ยงพัทลุง และพันธุ์ซีบูกันตัง ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 45ถัง/ไร่ ในปี 2559 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้ส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่นาร้างเพิ่มจำนวน 385 ไร่ รวมพื้นที่นา 897 ไร่ ส่วนใหญ่เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์หอมกระดังงา ข้าวให้ผลผลิตเฉลี่ย 41 ถัง/ไร่ ส่วนข้าวพันธุ์อื่นๆ ได้แก่ ซีบูกันตัง จันทร์เต๊ะ และพันธุ์ไรซ์เบอร์รี่ และได้มีเกษตรกรเข้าร่วมกลุ่มเป็นจำนวน 125 ราย และศูนย์ฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรกลุ่มทำนาบ้านตอหลัง-ทรายขาว ซึ่งมีสมาชิก จำนวน 125 ราย ได้จัดตั้งกลุ่มย่อยๆ ภายในกลุ่มทำนาขึ้น ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำ มีสมาชิกจำนวน 39 ราย กลุ่มกองทุนปุ๋ยสำหรับทำนาข้าว มีสมาชิก 65 ราย กลุ่มปลูกผัก จำนวน 28 ราย ส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มข้าวซ้อมมือ/โรงสีข้าวขนาดเล็ก และกลุ่มศิลปาชีพซึ่งเป็นกลุ่มที่จัดตั้งมานาน (ทอผ้าขาวม้า) โดยแต่ละกลุ่มได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการภายในกลุ่ม นอกจากนี้เกษตรกรทั้ง 2 หมู่บ้าน ยังได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ซึ่งได้มีการจัดหลักสูตรอบรม และศึกษาดูงาน ให้กับสมาชิกในกลุ่มที่สนใจเข้าร่วมในโครงการ ทำให้เกษตรกร เกิดความรู้ ทักษะ และนำความรู้มาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ทั้งด้านการปลูกผักลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการใช้น้ำหมักชีวภาพที่ทำจากสมุนไพรแทน ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิต และได้มีการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชผักให้กับเกษตรกรในพื้นที่ ทำให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนเพิ่มขึ้น ในปี 2560 เกษตรกรได้พัฒนาพื้นที่นาร้างเพิ่มอีก 186 ไร่ รวมพื้นที่ทำนา 1,083 ไร่ ส่วนใหญ่ยังคงปลูกข้าวหอมกระดังงา โดยได้รับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เป็น 43 ถัง/ไร่ รวมผลผลิตข้าวทั้งหมด จำนวน 456,590 กิโลกรัม ส่วนข้าวที่เหลือจากการบริโภคได้จำหน่ายเป็นข้าวเปลือกให้กับโรงสีข้าวพิกุลทอง และในปี 2561 เกษตรกรได้ทำนาเต็มพื้นที่ จำนวน 1,083 ไร่ โดยได้รับผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น เป็น 45 ถัง/ไร่ รวมผลผลิตข้าวทั้งหมด จำนวน 487,350 กิโลกรัม และยังคงจำหน่ายข้าวเปลือกให้กับโรงสีข้าวพิกุลทอง อีกทั้งได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานของกลุ่มข้าวซ้อมมือ ในปี 2562 ได้จัดทำโครงการผลิตข้าวครบวงจรให้กับกลุ่มเกษตรกร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตข้าว โดยมีการจัดอบรมให้ความรู้ และ นำเกษตรกรไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการผลิตและแปรรูปข้าว โครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว ได้ดำเนินการปลูกข้าวมาจนถึงปัจจุบัน เกษตรกรได้รับผลผลิตข้าวเพียงพอแก่การบริโภคและการจัดเก็บเมล็ดข้าวไว้ทำพันธุ์ครั้งต่อไป และยังสามารถจำหน่ายเข้ากลุ่มเพื่อการแปรรูปข้าวกล้องหอมกระดังงา สร้างรายได้เพิ่มในครัวเรือน นับเป็นผลสำเร็จของการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ที่เห็นผลเป็นรูปธรรมและเป็นที่ประจักแพร่หลายมากขึ้น พื้นที่จำนวน 3,000 ไร่ ของโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว ซึ่งอยู่ในเขตลุ่มน้ำบางนรา เกษตรกรได้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อทำการเกษตรเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ทั้งการปลูกข้าว ปลูกพืชผักและทำกิจกรรมการเกษตรอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าต่อไปพื้นที่นาร้างคงกลับกลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวให้ออกดอกออกผลเป็นทุ่งรวงทองที่ผลิตข้าวหล่อเลี้ยงผู้คนต่อไปอย่างยาวนาน โดยมีหน่วยงานภาครัฐร่วมกันทำงานแบบบูรณาการ ประกอบด้วย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ชลประทาน ศูนย์วิจัยข้าว สำนักงานสหกรณ์ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของเกษตรกรในพื้นที่ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีต่อเกษตรกรในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาวแห่งนี้ ด้วยทรงห่วงใยและทรงพระเมตตาแก่เกษตรกรในโครงการฯ เป็นยิ่งนัก ที่สำคัญยิ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ ไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการฯ อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ ด้วยความสำเร็จของเกษตรกรกลุ่มทำนาในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัดบ้านตอหลัง-ทรายขาว จึงได้มีการจัดตั้ง กลุ่มแปรรูปข้าวกล้องหอมกระดังงา ขึ้นโดยนำผลผลิตข้าวจำนวน 40% ที่สมาชิกได้จำหน่ายภายในกลุ่มเพื่อนำมาจำหน่ายเป็นข้าวสารและข้าวเปลือก โดยมีสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ช่วยส่งเสริมด้านการตลาดให้อีกทาง และเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ โดยงานส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหลักสูตร “การออกแบบและจัดทำบรรจุภัณฑ์” ให้กับเกษตรกรบ้านตอหลัง จนเกษตรกรสามารถผลิตข้าวกล้องหอมกระดังงา และได้จัดตั้งกลุ่มแปรรูปข้าวกล้องหอมกระดังงาขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2562 มีสมาชิกกลุ่ม จำนวน 80 ราย สมาชิกบ้านตอหลัง จำนวน 73 ราย สมาชิกบ้านทรายขาว จำนวน 20 ราย โดยรับซื้อผลผลิตข้าวของกลุ่มทำนามาแปรรูปเป็นข้าวกล้องหอมกระดังงาจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 55 บาท ผู้สนใจสามารถสั่งจองได้ที่กลุ่มผลิตข้าวกล้องหอมกระดังงา บ้านตอหลัง โทรศัพท์ 086-2981879 หรือ 084-7477010 จากดินที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ใดๆ ได้ วันนี้ได้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยนาข้าว พืชผัก ไม้ผล และปาล์มน้ำมัน ด้วยความร่วมมือร่วมแรงของเกษตรกรบ้านตอหลังและบ้านทรายขาวสามารถใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ต่อเนื่อง ทำให้มีอาชีพมั่นคง มีรายได้ต่อเนื่อง สามารถบริหารจัดการกลุ่มได้ดี ชุมชนมีความเข้มแข็ง และพึ่งตนเองได้ เกษตรกรต่างรู้สึกปลื้มปีติอย่างยิ่งที่สามารถสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการปลูกข้าวให้ยั่งยืนสืบไป นอกจากนี้เกษตรกรบ้านตอหลังที่เป็นสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพและกลุ่มทอผ้าลายดอกบ้านตอหลัง ซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2519 โดยมีสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทในขณะนั้น เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงทอและสนับสนุนอุปกรณ์ประกอบโรงทอ ดำเนินการทอผ้าฝ้ายดิบย้อมสีในท้องถิ่น ภายในพื้นที่วัดคันธาริการาม (วัดตอหลัง) มีสมาชิก 16 ราย ในขณะที่สมาชิกในหมู่บ้านได้ประกอบอาชีพทำนา ปลูกพืชผักใช้เวลาช่วงว่างหลังจากทำนาและสิ้นสุดฤดูกาลทำนาแล้วมาทอผ้า ในปี พ.ศ.2531 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังวัดคันธาริการาม ทรงรับกลุ่มสมาชิกทอผ้าเดิมและมีพระราชเสาวนีย์ให้รับสมาชิกใหม่ พร้อมจัดตั้งเป็นกลุ่มศิลปาชีพบ้านตอหลัง มีสมาชิก จำนวน 40 ราย ดำเนินการทอผ้าฝ้ายสำเร็จเป็นผ้าขาวม้า มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 20,000 บาท/คน/ปี ในปี พ.ศ.2556 นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ในขณะนั้น ได้หารือกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ในการดำเนินการต่อยอดกลุ่มทอผ้าบ้านตอหลังให้เป็นผ้าทอประจำจังหวัดนราธิวาส โดยให้ดำเนินการทอผ้าฝ้ายลายใหม่ ๆ ขึ้น ซึ่งงานส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้เข้ามาดำเนินการสอนทอผ้าให้แก่สมาชิกกลุ่มทอผ้าโดยคัดเลือกสมาชิกที่มีความสามารถและมีความสนใจในการทอผ้าลายดอก จำนวน 13 ราย ปัจจุบันการดำเนินงานของกลุ่มทอผ้าบ้านตอหลัง แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กลุ่มทอผ้าศิลปาชีพ มีสมาชิก จำนวน 41 ราย ดำเนินการทอผ้าขาวม้าและผ้าสีพื้นส่งศูนย์ศิลปาชีพ และ กลุ่มทอผ้าลายดอก มีสมาชิก จำนวน 13 ราย ดำเนินการทอผ้าลายดอก โดยใช้กี่ทอผ้าจำนวน 12 ไม้เหยียบ ได้ลายผ้าที่มีความละเอียดสวยงาม จำนวน 10 ลาย ได้แก่ ลายสายหยุด รสสุคนธ์ ทองอุไร ชมนาด บานไม่รู้โรย ราชาวดี พะยอมเล็ก มณฑา พิกุล และลายจันทน์กะพ้อ ทำให้กลุ่มทอผ้าลายดอกบ้านตอหลังมีชื่อเสียงในการทอผ้าและลายผ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น สมาชิกนำผ้าขาวม้ามาทำผลิตภัณฑ์กระเป๋ารูปทรงต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้ผ้าทอของบ้านตอหลังเป็นที่รู้จักและสามารถจำหน่ายเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มมากขึ้น จึงมีบุคคลสำคัญกลุ่มต่างๆ เข้าไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของกลุ่มศิลปาชีพในพื้นที่บ่อยครั้ง และสมาชิกกลุ่มทอผ้าได้รับการส่งเสริมให้นำผ้าทอไปจำหน่ายในงานสำคัญต่างๆ ทั้งในและต่างจังหวัดเสมอมา