ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับกรมศิลปากร ยูเนสโก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และ SCG มอบวุฒิบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตร ช่างอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ของไทย การันตีฝีมือ นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี (สพร.14 ปทุมธานี) ร่วมกับยูเนสโก พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน กรมศิลปากร สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG จัดอบรมหลักสูตร ช่างอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไม้ของไทย ให้กับช่างไม้และช่างก่อสร้าง ระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม 2562 มีผู้ผ่านการฝึกอบรมและเข้ารับวุฒิบัตรในครั้งนี้จำนวน 21 คน และในจำนวนนี้มีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างไม้ก่อสร้าง ระดับ 1 จำนวน 7 คน การอบรมแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก เป็นการถ่ายทอดความรู้เบื้องต้นในการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมประเภทไม้ ระหว่างวันที่ 19 – 23 สิงหาคม 2562 ณ องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ และศึกษาดูงานที่พระราชวังสนามจันทร์ ช่วงที่ 2 เป็นการฝึกออกสำรวจและบันทึกสภาพโบราณสถานก่อนการอนุรักษ์ ประเมินความเสียหาย และการวางแผนอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม – 2 กันยายน 2562 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และศึกษาดูงานที่สถาปัตยกรรมเพชรบุรี ช่วงที่ 3 พัฒนาทักษะและเทคนิคเพื่อการอนุรักษ์อาคารประวัติศาสตร์ประเภทไม้ การอนุรักษ์เชิงป้องกันและการบำรุงรักษา ระหว่างวันที่ 2 – 11 ตุลาคม 2562 ที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน นายสุชาติ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันช่างที่มีความชำนาญงานบูรณะโบราณสถาน มีจำนวนน้อยมากและขาดโอกาสในการสืบทอดความรู้สู่คนรุ่นใหม่ จำเป็นต้องฟื้นฟูความรู้ทักษะช่าง เพื่อใช้ในการอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ อีกทั้งต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาประกอบการเรียนรู้และการทำงานด้วย กพร.จึงร่วมกับกรมศิลปากร และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จัดฝึกอบรมในครั้งนี้ขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมปลูกฝังจริยธรรมทางวิชาชีพให้แก่แรงงานรุ่นใหม่ เพื่อฟื้นฟูภูมิปัญญาช่างสถาปัตยกรรมไทยแบบดั้งเดิม สู่การอนุรักษ์แหล่งมรดกโลก “การฝึกอบรมในครั้งนี้ มุ่งพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรสำหรับช่างอนุรักษ์ ให้ครอบคลุมเนื้อหาองค์ความรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์สถาบัตยกรรมไม้ สร้างผู้สอนช่างอนุรักษ์รุ่นใหม่ ให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงานและทันต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ กพร. ยังเตรียมพร้อมในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานเฉพาะ ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ในลำดับต่อไปอีกด้วย” อธิบดี กพร.กล่าว