“น้ำ” เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานที่สำคัญในการดำรงชีพของมนุษย์ ทั้งการใช้น้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และที่สำคัญใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งพื้นที่ประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า “น้ำ คือ ชีวิต”แต่บางพื้นที่ก็ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่งผลน้ำในเขื่อนแห้งขอด ไม่เพียงพอที่จะแจกจ่ายให้กับประชาชน และทำการเกษตรได้ รวมถึงบางพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทาน ต้องอาศัยน้ำฝนในการอุปโภค บริโภค และทำการเกษตร ก็พบปัญหาฝนตกไม่กระจายตัว ทำให้เกิดสภาวะ ที่เรียกกันว่า “ฝนทิ้งช่วง” จากปัญหาดังกล่าว โครงการฝนหลวง จึงได้ก่อเกิดขึ้นมา จากพระราชดำริส่วนพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในปี พ.ศ.2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ให้กับ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการและต่อมา ได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียม หรือฝนหลวงขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2512 ด้วยความสำเร็จของโครงการฯ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกา ก่อตั้ง “สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง” ขึ้นในปี พ.ศ.2518 ปัจจุบัน คือ “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร” เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" การทำ “ฝนหลวง” เป็นกรรมวิธีการเหนี่ยวนำน้ำจากฟ้า จะต้องให้เครื่องบิน ที่มีอัตราการบรรทุกมากๆ บรรจุสารเคมีขึ้นไปโปรยในท้องฟ้า โดยดูจากความชื้นของจำนวนเมฆ และสภาพของทิศทางลมประกอบกัน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝน คือ ความร้อนชื้น ปะทะความเย็น และมีแกนกลั่นตัวที่มีประสิทธิภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม กล่าวคือ เมื่อมวลอากาศร้อนชื้น ที่ระดับผิวพื้นขึ้นสู่อากาศเบื้องบน อุณหภูมิของมวลอากาศ จะลดต่ำลงจนถึงความสูงที่ระดับหนึ่ง อุณหภูมิที่ลดต่ำลงนั้นมากพอ ก็จะทำให้ไอน้ำในมวลอากาศอิ่มตัว จะเกิดขบวนการกลั่นตัวเองของไอน้ำในมวลอากาศขึ้นบนแกนกลั่นตัว เกิดเป็นฝนตกลงมา ฉะนั้นสารเคมีที่ใช้จึงประกอบด้วยสูตรร้อน เพื่อใช้กระตุ้นเร่งเร้ากลไกการหมุนเวียนของบรรยากาศสูตรเย็น ใช้เพื่อกระตุ้นกลไกการรวมตัวของละอองเมฆ ให้โตขึ้นเป็นเม็ดฝน และสูตรที่ใช้เป็นแกนดูดซับความชื้น เพื่อใช้ กระตุ้นกลไก ระบบการกลั่นตัวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น "ฝนหลวง" จึงเป็นหนึ่งศาสตร์พระราชา ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่องการขาดแคลนน้ำ ให้กับประชาชน และเกษตรกรได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันที่ 13 ตุลาคม 2562 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริ "ฝนหลวง" ได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระองค์ท่าน โดยมีการจัดกิจกรรมทำบุญเลี้ยงพระ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์ท่าน และจัดกิจกรรมจิตอาสา โดยการทำความสะอาดบริเวณกรมฝนหลวงและการบินเกษตร พื้นที่โดยรอบ รวมทั้งข้าราชการกรมฯ จะร่วมกันปลูกดอกดาวเรือง เพื่อน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่าน โดยใช้ดอกดาวเรือง เป็นสัญลักษณ์สีเหลือง และจะมีการปลูกไปถึงวันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระองค์ท่าน นอกจากนี้ ในวันที่ 13 ตุลาคม 2562 หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง ทั้ง 11 หน่วย ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค จะมีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นโครงการฝนหลวง ที่พระองค์ท่านได้ทรงคิดค้นขึ้นมา รวมถึงเป็นการสื่อสารให้พี่น้องประชาชนได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระองค์ท่านด้วย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงการการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศาสตร์พระราชา “ฝนหลวง”ว่า การสืบสาน โดยการนำไปใช้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนเรื่องของน้ำ การเติมน้ำในเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วยภัยแล้ง การแก้ปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ ส่วนการรักษา ต้องรักษา “ตำราฝนหลวงพระราชทาน” อย่างต่อเนื่อง โดยการทำความร่วมมือกับต่างประเทศ ใช้เทคโนโลยี ตามตำราฝนหลวงพระราชทาน ซึ่งไม่เพียงรักษาให้อยู่ในประเทศไทยอย่างเดียวแต่มีการกระจายไปสู่ต่างแดนด้วย ส่วนการต่อยอด จะมีการคิดค้น วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการฝนหลวง
“ในฐานะที่ผมมาทำงานในกรมฝนหลวงและการบินเกษตร สามารถพูดแทนพสกนิกรของพระองค์ท่านทั้งประเทศ และปวงชนชาวโลกได้ว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน ฝนหลวง ก็คงไม่ได้เกิดขึ้น และคงไม่มีใครที่จะคิดค้นเรื่องฝนหลวงมาประยุกต์ใช้ เพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องน้ำ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 14 ปี ในการคิดค้นจนออกมาเป็นตำราฝนหลวงพระราชทาน ต้องใช้คำว่า หาที่สุดมิได้ เพราะในโลกนี้ไม่อีกแล้วกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ทรงคิดค้นอะไรที่เป็นคุณูปการต่อชาวโลกได้ขนาดนี้ รวมถึงปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การแก้ปัญหาในระยะเวลาอันสั้นเป็นเรื่องยาก เพราะมนุษย์เราเป็นผู้ทำลายสภาพธรรมชาติกันเอง ดังนั้นส่วนที่มาช่วยเหลือ และเยียวยาปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีที่สุด คือ ฝนหลวง”
นายสุรสีห์ กล่าวด้วยความซาบซื้งในพระมหากรุณาธิคุณ อย่างไรก็ดี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ย้ำเดินหน้าสนองงานตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สืบสาน รักษา ต่อยอด “ศาสตร์พระราชาฝนหลวง” โดยใช้ “ฝนหลวง” ในการหล่อเลี้ยงชีวิตพสกนิกรของพระองค์ท่านให้มีความกินดี อยู่ดี พร้อมเผยแพร่พระราชกรณียกิจ และพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ด้านฝนหลวง สู่ประเทศอื่นๆ ให้ “พระบารมีแผ่ไพศาล” สู่ทั่วโลกสืบไป พุทธชาติ แซ่เฮ้ง : รายงาน