ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ / ทหารประชาธิปไตย ในระบอบประชาธิปไตย ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา เขามีระบบถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติไว้อย่างรัดกุม และมีช่องทางให้ทำได้ตั้งแต่การใช้เสียงข้างมากออกกฎหมาย และประธานาธิบดีมีสิทธิวีโต้ ซึ่งหากสภาไม่เห็นด้วยก็สามารถลงมติใหม่ด้วยเสียงสองในสาม ในกรณีที่สภาเห็นว่าประธานาธิบดีทำผิดร้ายแรงก็มีขบวนการที่จะปลดออกจากตำแหน่งได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้ คือ สภาผู้แทนราษฎร หรือสภาล่างมีมติให้ทำการไต่สวน หากเห็นว่ามีความผิดก็ส่งเรื่องให้วุฒิสภาหรือสภาสูง มีมติขับออก แต่ต้องมีคะแนนไม่ต่ำกว่าสองในสามของสภาสูง ในประวัติศาสตร์การเมืองของสหรัฐอเมริกามีประธานาธิบดีถูกนำเข้าขบวนการเพื่อจะปลดออก (Impeachment) 4 คน คือ ประธานาธิบดีแอนดรู จอห์นสัน อย่าสับสนนะครับคนนี้ไม่ใช่แอนดรู แจ๊คสัน โดยจอห์นสันเป็นประธานาธิบดีคนที่ 17 (1865-1869) สังกัดพรรคเดโมแครต เป็นประธานาธิบดีก่อนท่านอับราฮัม ลินคอร์น ซึ่งเป็นคนที่ 18 ประธานาธิบดีจอห์นสัน ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดร้ายแรงหลายข้อหา แต่ข้อหาหลักคือ การละเมิดกฎหมาย Tenure of Office Act ซึ่งในยุคนั้นกฎหมายระบุว่าห้ามปลดหรือย้ายเจ้าหน้าที่ระดับสูง แม้แต่รัฐมนตรีออกโดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งจอห์นสันหาเรื่องย้ายแล้วปลดนาย Edwin M.Stanton เลขาธิการ(รัฐมนตรี) กระทรวงสงคราม เพราะมีความเห็นขัดแย้งหลายเรื่อง สภาผู้แทนหลังสอบสวนมีมติให้ส่งสภาสูงเพื่อตัดสินโดยมีประธานศาลสูงสุดเป็นประธาน ผลปรากฏว่าคะแนนเฉียดฉิว คือ ฝ่ายไม่เห็นด้วยที่จะให้ปลดมีคะแนนเกิน 2 ใน 3 เพียง 1 คะแนน จากนั้นอีก 10 วัน ต่อมาสภาสูงก็มีการพิจารณาความผิดอีก 3 ข้อหา แต่ผลก็เหมือนเดิม จอห์นสันจึงรอดจากการถูกปลดไปได้ ประธานาธิบดีคนต่อมาที่ถูกเข้าขบวนการสอบสวนเพื่อพิจารณาปลด คือ ประธานาธิบดีนิกสัน จากพรรคริพับลิกัน ซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีหลังนายลินดอน เบนส์ จอห์นสัน พรรคเดโมแครต นิกสันถูกกล่าวหาในความผิดฐานสั่งการให้เจ้าหน้าที่รัฐไปสอดแนมดักฟังการประชุมใหญ่ที่ตึกวอเตอร์เกต ของพรรคเดโมแครต เพื่อวางแผนในการต่อสู้กับพรรคนี้ในการเลือกตั้งสมัยต่อมา ดคีวอเตอร์เกตนี้โด่งดังมาก และในช่วงต้นนิกสันให้การปฏิเสธโดยตลอด แต่เมื่อมีการสอบยันจากการให้ปากคำของนาย Cox ที่นิกสันได้สั่งการให้ปลดออก ข้อมูลของการสอบสวนยิ่งมัดตัวนิกสันไปทุกขณะจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงถูกติดคุกไป 4 คน และคดีก็ยืดเยื้อมาเป็นปี แต่ยิ่งสอบนิกสันก็ยิ่งเสียชื่อ เพราะข้อมูลมันบ่งชี้ว่าเป็นผู้ที่พัวพันและสั่งการให้ดักฟัง โดยใช้หน่วยข่าวกรอง สุดท้ายนิกสันตัดสินใจลาออกก่อน ถูกนำคดีไปให้วุฒิสภาตัดสิน และตั้งฟอร์ดให้เป็นประธานาธิบดีจนหมดสมัย ประธานาธิบดีคนต่อมาคือคนที่ 3 ที่ถูกกล่าวโทษและสอบสวนโดยสภาคองเกรส คือ บิล คลินตัน คนที่ถุกสอบสวนด้วยเรื่องชู้สาว นั่นคือมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กฝึกงานในทำเนียบ น.ส.โมนิกา ลูวินสกี้ ในขั้นต้นนางสาวโมนิกา ลูวินสกี้ ให้การเปิดเผยเรื่องฉาวโฉ่ อย่างหมดเปลือก แต่ บิล คลินตัน ให้การภาคเสธ คือ แบ่งรับแบ่งสู้ ในขณะที่ภริยาของเขา นางฮิลลารี คลินตัน ให้สัมภาษณ์สนับสนุนสามีตลอด เมื่อเรื่องไปสู่วุฒิสภา ซึ่งมีพรรคเดโมแครต เป็นเสียงข้างมากผล จึงออกมาว่านายบิล คลินตัน พ้นข้อกล่าวหาไม่ถูกปลด เพราะเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 เรื่องนี้น.ส.ลูวินสกี้ ก็รับทรัพย์จากการให้สัมภาษณ์ และเขียนหนังสือไปหลายตังค์ทีเดียว และสาธารณชนก็เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะขบวนการถอดถอนเขากำหนดไว้แบบนั้น คนที่ 4 ที่เข้าขบวนการไต่สวนเพื่อถอดถอนจากตำแหน่ง คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้โด่งดังด้วยวาทกรรม แบบสุนัขไม่รับประทาน แต่ก็ถูกใจคนกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนมาก คือ พวกผิวขาวที่ถือตนว่าเหนือกว่าชาติพันธุ์อื่น คือ พวกเหยียดผิวนั่นเอง จุดเริ่มต้นก็คือมีบุคคลที่ยังไม่เปิดเผยมาเป็นผู้เป่านกหวีด เผยความจริงว่าทรัมป์ได้ต่อสายตรงกับประธานาธิบดียูเครนให้ทำการสอบสวนใหม่คดีที่บริษัทของสหรัฐฯ ด้านปิโตรเลียม ที่มีอดีตรองประธานาธิบดีโจไบเดน เป็นประธาน กับลูกชายชื่อฮันเตอร์เป็นผู้บริหารที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันกับการคอร์รัปชั่นและคดีปิดไปแล้ว ทั้งนี้ทรัมป์ยังขู่ว่าจะตัดเงินช่วยเหลือในการซื้ออาวุธของยูเครนหากไม่ทำตาม และในความเป็นจริงก็ได้สั่งชะลอไปแล้วด้วย แต่ทรัมป์ในเวลาต่อมาทวิทปฏิเสธว่าไม่ได้บีบบังคับ ครั้นข่าวอื้อฉาวก็บอกว่าได้มีการพูดกันจริง และยังแถมให้สัมภาษณ์ว่าได้บอกกับจีนไปเช่นเดียวกัน โดยในส่วนหลังนี้ทรัมป์ไม่ได้บอกว่าได้เสนอว่าจะไม่หยิบยกเรื่องฮ่องกงเข้ามาพูดคุยในการเจรจาการค้ากับจีน ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องคือนายโจไบเดน เป็นตัวเก็งที่จะลงแข่งขันการเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า ในนามพรรคเดโมแครตการกระทำดังกล่าวจึงถือได้ว่าไปยืมมือต่างชาติมาแทรกแซง กิจการภายในคือการเลือกตั้ง และทรัมป์เคยโดนกล่าวหามาแล้วว่าไปยืมมือรัสเซีย เพื่อเอาข้อมูลมาดีสเครดิตนางฮิลลารี คลินตัน ที่เป็นคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีคราวที่แล้ว จึงมีส่วนทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง แต่ครั้งนั้นจากการสอบสวนเบื้องต้น ก่อนเข้าขบวนการปลด หลักฐานไม่เพียงพอ เรื่องจึงยุติลงไป มาครั้งนี้ทรัมป์จึงค่อนข้างลำพองใจถึงกับให้สัมภาษณ์อย่างเปิดเผยว่าเขาไม่ได้ทำผิดอะไร แต่ต้องการเปิดโปงการคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด อย่างไรก็ตามทรัมป์มิได้อยู่เฉยๆ แล้วตั้งรับอย่างเดียว เขากลับปฏิบัติการในเชิงรุก ด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคดีความของเขาเลย แต่มุ่งโจมตีคนที่จะเอาเรื่องเขา เช่น ประธานสภาคองเกรส นางเปโรซี โดยทรัมป์พุ่งเป้าโจมตีมหานครซานฟรานซิสโก ซึ่งมีผู้ที่ไร้บ้านเป็นจำนวนมากว่าเป็นตัวก่อปัญหาน้ำเสีย และทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม นอกจากนี้ยังให้หน่วยงานที่กำกับดูแลสิ่งแวดล้อมไปข่มขู่รัฐบาลท้องถิ่นโทษฐานไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี เท่านั้นไม่พอยังข่มขู่ไปยังรัฐบาลท้องถิ่นคาลิฟอร์เนียว่าจะตัดงบกลางที่สนับสนุนการสร้างทางหลวงลง เพราะไม่ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี เหตุที่โจมตีซานฟรานเพราะนางเปโรซี ได้รับเลือกตั้งมาจากเขตในนครซานฟราน อนึ่งทรัมป์ยังเจาะจงโจมตีนางเปโรซีให้กลับไปดูแลเขตของตนแทนจะมาคอยเล่นงานเขา แถมให้โฆษกทำเนียบขาวประกาศจะไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน ซึ่งอาจผิดกฎหมาย ส่วนการต่างประเทศทรัมป์ก็ให้สัญญาณไฟเขียวกับตุรกีให้ทำการบุกซีเรียเพื่อไปโจมตีเคิร์ด ที่เป็นกองกำลังต่อต้านรัฐบาลตุรกีและตุรกี ถือเป็นผู้ก่อการร้าย ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมและสั่นคลอนสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ทั้งนี้จะทำให้สหรัฐฯโดยทรัมป์ถือโอกาสดำเนินการทางทหารครั้งใหญ่ เพื่อกลบเรื่องคดีความการสอบสวนเพื่อปลดตนเองก็ได้ นอกจากนี้ก็มีข่าวเล็ดลอดออกมาว่าทรัมป์อาจจะมีการดำเนินการที่จะสร้างความประหลาดใจในการเมืองระหว่างประเทศกับเกาหลีเหนือและกับอิหร่านในระยะใกล้ๆกันนี้ เพื่อกลบข่าวและสร้างคะแนนนิยมให้ตัวเองก็ได้ เฮ้อมีผู้นำแบบนี้ประชาชนก็คงต้องปวดหัวปวดใจกันไม่น้อย เพราะทรัมป์ไม่ธรรมดา แต่เป็นตัวแสบคนหนึ่งของโลกทีเดียว ซึ่งไม่ใช่แค่วาทกรรม แต่กระทำการที่ไม่เหมาะสมจำนวนมากทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะกระทบต่อไทยก็ได้