“มธ.” จับมือ “KOSEN” จัดงานสัมมนา “ISTS” นำนักศึกษาไทย-ต่างชาติ เรียนรู้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน – วัฒนธรรมไทย พร้อมต่อยอดออกแบบมหาวิทยาลัยในอนาคต ปลื้ม “ญี่ปุ่น” ชื่นชมวิถีเกษตรแบบกลับคืนสู่ธรรมชาติของในหลวง รัชกาลที่ 9 วันที่ 10 ต.ค. นายวีรชัย อัศวเมธาพันธ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการจัดงาน International Seminar on Technology for Sustainability (ISTS) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 ต.ค. ว่า งานนี้เป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และวิทยาลัยเทคนิค (KOSEN) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งทุกปี KOSEN จะมีการจัดงาน Japan Seminar on Technology for Sustainability (JSTS) ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ช่วง ต.ค. จะจัดงาน ISTS ในต่างประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นปีละครั้ง ปีนี้มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์ต้องการให้นักศึกษาแต่ละประเทศมาร่วมกันทำกิจกรรม และเรียนรู้หลักการที่เกี่ยวกับเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals – SDGs ทั้ง 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่มุ่งหวังช่วยแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม มีมหาวิทยาลัยจากหลายประเทศเข้าร่วม อาทิ KOSEN มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนางาโอกะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนากาโอกะ จากประเทศญี่ปุ่น ประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีบุคลากร เจ้าหน้าที่ของแต่ละสถาบันเข้าร่วมงานรวมประมาณ 170 คน นายวีรชัย กล่าวว่า กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน คือเราได้พานักศึกษาไปดูงานพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งมีผลตอบรับดีมาก ทางประเทศญี่ปุ่นชอบกิจกรรมนี้ เนื่องจากการเกษตรของประเทศญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการตัดต่อพันธุกรรม แต่ของไทยจะเน้นการกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเขารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ทุกอย่างควรกลับสู่ธรรมชาติ และยังชื่นชมพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงนำทุกอย่างกลับมาสู่ธรรมชาติได้ ซึ่งถือว่าเป็นความยั่งยืนจริงๆ นอกจากนี้ กิจกรรมที่ได้รับความชื่นชอบและมีความสุขเป็นอย่างมากคือเรื่องวัฒนธรรมไทย เรามีการจัดฐานมวยไทย ฐานเขียนลายไทย มีการสานปลาตะเพียน และสอนภาษาไทย ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนให้เด็กได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เด็กๆ สามารถนำไปต่อยอดได้จากโครงการนี้ คือเด็กได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิต และสามารถตระหนักได้ว่าบทบาทของเขาในอนาคตควรทำตัวอย่างไรเพื่อให้สังคมนี้เป็นสังคมที่ยั่งยืน เพราะนักศึกษาจะต้องแบ่งกลุ่มและร่วมกันออกแบบมหาวิทยาลัยในอนาคตที่ยั่งยืน ตามหลักของ SDGs โดยนำปัญหาที่เขาเจอในมหาวิทยาลัย มาเสนอแนวทางแก้ไข เช่น ปัญหาขยะ เศษอาหารในมหาวิทยาลัย ก็อาจจะใช้มีการคิดนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหานั้นๆ และเพื่อเป็นการประยุกต์การสร้างสรรค์นวัตกรรมของเด็กๆ เราได้พาเยี่ยมชมห้องแลปงานวิจัยที่โดดเด่นของอาจารย์ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นห้องวิจัย 4 ห้องที่ได้รับรางวัลสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เพื่อให้เขาดูว่ามหาวิทยาลัยของเรา อาจารย์สร้างสรรค์นวัตกรรมได้อย่างไร และนำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์การออกแบบมหาวิทยาลัยของพวกเขาด้วย รวมถึงนำความรู้จากแต่ละคณะที่ตัวเองศึกษามาประยุกต์เขียนเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์มหาวิทยาลัยในอนาคต “โครงการนี้ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้นักศึกษาจากทุกชาติ ได้ร่วมกันคิดถึงโลกใบนี้ว่าพวกเขาเป็นอนาคตของโลก และเป็นคนรุ่นใหม่ต่อไป พวกเขาจะร่วมมือกันทำอย่างไรให้โลกใบนี้น่าอยู่ขึ้น เป็นโลก และสังคมที่ยั่งยืน รวมถึงการเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เครือข่ายของนักศึกษากว้างขึ้น เด็กทุกคนอยู่ในโลกใบเดียวกัน ทุกคนเป็นพี่น้องกัน และอยากให้ทุกคนได้เข้าร่วมในโอกาสต่อๆ ไป” นายวีรชัย กล่าว